คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 966/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกถอนคืนการให้ที่พิพาทแก่จำเลยเพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณ จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ในเบื้องต้นว่าโจทก์ไม่ได้ยกที่พิพาทให้จำเลยโดยเสน่หาเพราะโจทก์ได้รับค่าตอบแทนจากจำเลย การที่จำเลยอ้างเหตุต่อมาว่าความจริงเป็นการซื้อขายซึ่งเป็นเจตนาอันแท้จริงของโจทก์และจำเลย ก็เป็นเหตุแห่งการปฏิเสธของจำเลยว่าโจทก์ไม่ได้ยกที่พิพาทให้จำเลยโดยเสน่หานั่นเอง ไม่ทำให้เป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันจนไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่จำเลยจะนำสืบได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จดทะเบียนยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ให้แก่จำเลย ต่อมาโจทก์ได้พูดขอสิ่งของจำเป็นแก่การเลี้ยงชีวิตจากจำเลยและขอร้องมิให้จำเลยขายที่ดินดังกล่าว เพราะว่าโจทก์ไม่มีที่ทำกินที่อื่นอีกแล้ว แต่จำเลยยืนยันที่จะขายที่ดินดังกล่าวทั้งที่จำเลยก็มีทรัพย์สินอื่นอยู่เพียงพอที่จะเลี้ยงชีพได้และจำเลยได้ด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบช้ามากมายเป็นการบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเลยเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาให้ที่ดินที่โจทก์ให้ที่ดินแก่จำเลยและให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแทนจำเลย หากจำเลยไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาในการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ในที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยยกที่ดินให้จำเลยโดยเสน่หาจำเลยไม่เคยด่าโจทก์ตามฟ้อง และไม่เคยเนรคุณโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการให้และเรียกคืนที่ดินจากจำเลยเพราะโจทก์สละสิทธิครอบครองที่ดินตามฟ้องและโอนสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวให้จำเลยโดยจำเลยได้ชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์จำนวน 13,000 บาท เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม2512 และได้ทำสัญญาซื้อขายกันไว้ด้วยหนังสือสัญญาให้ที่ดินตามที่โจทก์อ้าง ได้ทำขึ้นเพราะโจทก์ต้องการที่จะหลบเลี่ยงค่าธรรมเนียมและค่าอากร มิใช่ทำขึ้นเพื่อเจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยหนังสือสัญญาให้ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องถอนคืนการให้ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2528 โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากจำเลยเพื่อปลูกอ้อย กำหนดเวลาสิ้นสุดการเช่าในวันที่23 พฤษภาคม 2530 นับแต่เช่าที่ดินโจทก์ไม่เคยชำระค่าเช่าให้จำเลยเมื่อจำเลยทวงถาม โจทก์กลับโกรธเคืองจำเลยและพยายามขอซื้อที่ดินแปลงนี้คืนจากจำเลย เมื่อจำเลยไม่ยอมขายคืนให้ก็สร้างข้อเท็จจริงดังกล่าวหาว่าจำเลยด่าทอและนำคดีมาฟ้อง ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยได้บอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวกับโจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์และบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินดังกล่าว และให้โจทก์ชดใช้ค่าเช่าหรือค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยในอัตราปีละ 2,000 บาท นับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2528 จนกว่าโจทก์และบริวารจะรื้อย้ายสิ่งของออกจากที่ดิน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทกับจำเลย สัญญาซื้อขายที่จำเลยอ้างมานั้นเป็นสัญญาปลอม โดยจำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ ในระหว่างการเช่าแต่ละปีโจทก์ได้ชำระค่าเช่าทุกปี จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้ง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าเดิมโจทก์ได้ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทไว้กับนายชูเกียรติ พัฒนกุลเกียรติ์ครั้นเมื่อครบกำหนดตามสัญญาขายฝาก โจทก์ไม่ได้ไถ่ถอนที่พิพาทคืนจนกระทั่งวันที่ 9 ธันวาคม 2512 นายชูเกียรติได้ทำสัญญาขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ และในวันเดียวกันนั้นเอง โจทก์ได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่จำเลย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่าโจทก์จดทะเบียนโอนที่พิพาทให้จำเลยเป็นการให้โดยเสน่หาหรือไม่โจทก์นำสืบสาเหตุที่ยกที่พิพาทให้แก่จำเลยว่า เมื่อครบกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝากแล้ว โจทก์ไม่มีเงินไถ่ถอนต่อมานายชูเกียรติขายที่พิพาทคืนให้โจทก์ โจทก์จึงยกที่พิพาทให้จำเลยซึ่งเป็นหลานเพราะจำเลยตกลงจะเป็นผู้เลี้ยงดูโจทก์ เห็นว่า ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวขัดต่อเหตุผลหลายประการ กล่าวคือ โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ขณะโจทก์ยกที่พิพาทให้จำเลย โจทก์มีบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ถึง 7 คน โจทก์ไม่มีที่ดินแปลงอื่นอีก ไม่มีเงินที่จะไถ่ถอนที่พิพาทที่ขายฝากไว้กับนายชูเกียรติจนหมดสิทธิไถ่ถอนไปแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่โจทก์จะซื้อที่พิพาทคืนจากนายชูเกียรติด้วยเงินของโจทก์เอง แล้วยกให้จำเลยซึ่งมีศักดิ์เป็นเพียงหลานเขยและไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันกับโจทก์หากแต่อยู่ถึงจังหวัดสมุทรปราการ ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อถือส่วนจำเลยนำสืบว่า จำเลยซื้อที่พิพาทจากนายชูเกียรติโดยตรง แต่ที่ต้องให้โจทก์รับโอนจากนายชูเกียรติก่อนแล้วจึงโอนให้จำเลยภายหลัง เพราะนายอำเภอแนะนำว่าหากจะโอนให้จำเลยโดยตรงต้องเสียเวลาประกาศอีก 1 เดือน เห็นว่า มีเหตุผลน่ารับฟัง ดังจะเห็นได้จากบันทึกของเจ้าหน้าที่ในสำเนาเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเอกสารหมาย จ.4ซึ่งบันทึกเสนอผู้มีอำนาจสั่งการว่า “ขอจดทะเบียนให้ในวันเดียวกันกับทำสัญญาซื้อขาย เห็นควรจดทะเบียนให้ในวันเดียวกันได้โดยมิต้องประกาศอีก”นอกจากนี้จำเลยยังมีนายชูเกียรติมาเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ในวันจดทะเบียนขายที่พิพาทให้โจทก์นั้น จำเลยเป็นผู้จ่ายเงินให้พยานต่อหน้าโจทก์และพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยยังมีหนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย ล.4 มาแสดง ซึ่งหนังสือซื้อขายดังกล่าวระบุว่า โจทก์ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยในราคา 13,000 บาท โดยผู้ขายสละการครอบครองที่พิพาทให้แก่จำเลยผู้ซื้อแล้ว หนังสือสัญญาซื้อขายดังกล่าวโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่า ได้ลงชื่อไว้ขณะมีการกรอกข้อความในสัญญาแล้วเพียงแต่บ่ายเบี่ยงว่าไม่มีผู้อ่านให้ฟังเท่านั้น เห็นว่า ข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวมีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าของโจทก์ คดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ยกที่พิพาทให้จำเลยโดยเสน่หาส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า คำให้การของจำเลยเป็นคำให้การที่ไม่ชอบกล่าวคือตอนแรกให้การว่า โจทก์ไม่ได้ยกที่พิพาทให้จำเลยโดยเสน่หาแต่จำเลยได้ที่พิพาทโดยการซื้อขาย สัญญาให้ตกเป็นโมฆะ ตอนหลังกลับให้การว่า หากสัญญาให้มีผลบังคับได้โจทก์ก็ไม่มีอำนาจเพิกถอนและเรียกคืนการให้เพราะโจทก์ได้ยกที่ดินให้จำเลยโดยได้รับค่าตอบแทน จำเลยจึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบนั้น พิจารณาคำให้การของจำเลยโดยตลอดแล้ว เห็นว่า จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ในเบื้องต้นว่าโจทก์ไม่ได้ยกที่พิพาทให้จำเลยโดยเสน่หาเพราะโจทก์ได้รับค่าตอบแทนจากจำเลย การที่จำเลยอ้างเหตุต่อมาว่า ความจริงเป็นเรื่องการซื้อขายซึ่งเป็นเจตนาอันแท้จริงของโจทก์และจำเลยก็เป็นเหตุแห่งการปฏิเสธของจำเลยว่าโจทก์ไม่ได้ยกที่พิพาทให้จำเลยโดยเสน่หานั่นเอง หาได้ทำให้เป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันจนไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่จำเลยจะนำสืบได้ดังที่โจทก์ฎีกา ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว”
พิพากษายืน

Share