แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 นั้น มีการประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2478 และถูกยกเลิกไปในวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 4 ดังนั้น หากรัฐประสงค์จะหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อประโยชน์ใด ๆ แก่ทางราชการในช่วงระยะเวลาที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับก็จะต้องดำเนินการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามที่มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติไว้ โดยจะต้องระบุความประสงค์ที่หวงห้าม เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการหวงห้ามและที่ดินซึ่งกำหนดว่าต้องหวงห้าม แต่ก่อนหน้า พ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ใช้บังคับหาได้มีกฎหมายบังคับให้ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใดไม่
ขณะที่ ต. บิดาโจทก์เข้าจับจองครอบครองที่ดินตาม ส.ค. 1 ซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยนั้น ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ทางราชการได้ประกาศสงวนไว้ใช้ในราชการอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว ต. จะอ้างการครอบครองที่ดินพิพาทขึ้นใช้ยันต่อแผ่นดินไม่ได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินจาก ต. จึงอ้างการครอบครองที่ดินพิพาทขึ้นใช้ยันต่อแผ่นดินมิได้ด้วยเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายตั้ง เป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินที่มีสิทธิครอบครองตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 250 หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตาม ส.ค. 1 ดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการแทนไม่ชอบ และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยที่ 3 ออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทจำนวน 1 ไร่ 16.5 ตารางวา ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า ที่ดินพิพาททางราชการได้ลงทะเบียนไว้ว่าเป็นทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทสงวนไว้ใช้ในราชการโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2481 โจทก์ไม่มีสิทธิขอออกโฉนด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับเป็นว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ราชพัสดุ ห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 2 คัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินพิพาท ให้จำเลยที่ 3 ออกโฉนดที่ดินพิพาทตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 250 หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ในส่วนเนื้อที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า… พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2481 เจ้าพนักงานอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ลงทะเบียนการหวงห้ามที่ดินพิพาทในสมุดลงทะเบียนลำดับที่ 15 ว่า สงวนไว้ใช้ในราชการ โดยไม่ปรากฏว่ามีพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่ารัฐได้หวงห้ามที่ดินพิพาทไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการ ตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 กำหนดไว้ ต่อมาปี 2482 นายตั้งได้จับจองที่ดินตาม ส.ค. 1 เลขที่ 250 หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา โดยได้รับใบเหยียบย่ำก่อน หลังจากนั้นนายตั้งจึงไปแจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2498 โดยรวมเอาที่ดินพิพาทเข้าไปอยู่ในที่ดินที่นายตั้งแจ้งการครอบครองด้วย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายตั้งได้รับมรดกที่ดินดังกล่าวเมื่อปี 2514 ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2540 โจทก์ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค. 1 ในที่ดินส่วนที่เหลือจากการออกโฉนดไปแล้วบางส่วนซึ่งรวมที่ดินพิพาทอยู่ด้วย
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนารักษ์จังหวัดตรังได้คัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุซึ่งทางราชการขึ้นทะเบียนสงวนไว้ใช้ในราชการ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตรังตรวจสอบแล้วมีความเห็นว่า นายตั้งบิดาโจทก์ได้ที่ดินตาม ส.ค. 1 ภายหลังการขึ้นทะเบียนหวงห้ามที่ดินพิพาทของทางราชการ การได้มาและการแจ้ง ส.ค. 1 ทับที่ดินพิพาทอันเป็นที่หวงห้ามซึ่งสงวนไว้ใช้ในราชการไม่ก่อให้เกิดสิทธิใหม่แก่ผู้แจ้ง ส.ค. 1 ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 เป็นการได้ที่ดินพิพาทมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งลงวันที่ 26 มกราคม 2542 ให้กันที่ดินพิพาทออกไปและให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ในส่วนที่เหลือที่ไม่มีการคัดค้าน ปรากฏตามสำเนาคำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตรัง ที่ 3/2542 เรื่อง การเปรียบเทียบออกโฉนดที่ดิน โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องภายใน 60 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า ขณะที่นายตั้งบิดาโจทก์เข้าจับจองครอบครองที่ดินตาม ส.ค. 1 ซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยนั้น ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ทางราชการได้ประกาศสงวนไว้ใช้ในราชการอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 นั้น มีการประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2479 และถูกยกเลิกไปในวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 4 ดังนั้น หากรัฐประสงค์จะหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อประโยชน์ใด ๆ แก่ทางราชการในช่วงระยะเวลาที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ก็จะต้องดำเนินการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามที่มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติไว้ โดยจะต้องระบุความประสงค์ที่หวงห้าม เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการหวงห้ามและที่ดินซึ่งกำหนดว่าต้องหวงห้าม แต่ก่อนหน้า พ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ใช้บังคับหาได้มีกฎหมายบังคับให้ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ในข้อนี้นายสุกิจ เที่ยงมนีกุล จำเลยที่ 2 อดีตธนารักษ์จังหวัดตรังเบิกความว่า ก่อนมีพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ สำหรับที่ดินในภูมิภาคนั้น สมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองซึ่งมีอำนาจสูงสุดในท้องที่นั้นมีอำนาจปิดประกาศสงวนที่ดินเพื่อไว้ใช้ในราชการในภายภาคหน้าได้ การประกาศมีผลใช้บังคับทันที พยานยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ แต่ไม่ทราบว่าเป็นที่ราชพัสดุก่อนวันลงทะเบียนในปี 2481 นานเท่าใดเนื่องจากไม่พบหลักฐานประกาศหวงห้าม ที่ดินพิพาท พยานไปค้นหาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ก็ยงไม่พบ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ฝ่ายจำเลยไม่อาจหาหลักฐานการประกาศหวงห้ามที่ดินพิพาทมาแสดงต่อศาลได้ก็ตาม แต่การที่เจ้าพนักงานอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เมื่อปี 2481 จะกรอกข้อความลงทะเบียนที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินที่ทางราชการหวงห้ามในสมุดลงทะเบียนของสำนักงานที่ดินอำเภอสิเกาในวันที่ 30 ตุลาคม 2481 ได้นั้นจะต้องอาศัยหลักฐานของทางราชการเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นเป็นข้อมูลในการลงทะเบียน ดังนั้นจึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่ามีประกาศของทางราชการหวงห้ามที่ดินพิพาทไว้ก่อนวันที่ 8 เมษายน 2479 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ใช้บังคับอยู่จริง เพราะหากเป็นการประกาศหวงห้ามที่ดินพิพาทในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 8 เมษายน 2479 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2481 สมุดลงทะเบียนก็จะต้องปรากฏข้อความตามพระราชบัญญัติให้ทราบได้ ทั้งตามรูปคดีก็ไม่มีเหตุจูงใจอื่นใดที่เจ้าพนักงานอำเภอสิเกาผู้ลงทะเบียนที่ดินพิพาทจะต้องกรอกข้อความในสมุดลงทะเบียนโดยปราศจากข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงหรือทำเอกสารเท็จขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้งผู้หนึ่งผู้ใด
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความตามเอกสารหมาย จ. 4 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ล. 5 และ ล. 7 อีกว่า ในการลงทะเบียนที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานอำเภอสิเกาผู้ลงทะเบียนไม่ได้ระบุว่า กระทรวง ทบวง กรมใดหวงห้าม กำหนดเวลาหวงห้าม วันประกาศหวงห้ามและเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการหวงห้าม อันเป็นหลักการที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 กำหนดไว้ สำหรับที่ดินที่มีการหวงห้ามภายหลังจากพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว ซึ่งเจ้าพนักงานผู้ลงทะเบียนจักต้องกระทำดังที่ปรากฏในคำอธิบาย แบบการลงทะเบียนเอกสารแนบเอกสารหมาย ล. 5 ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ถ่ายสำเนาจากสมุดลงทะเบียนของสำนักงานที่ดินอำเภอสิเกาไว้เป็นพยานหลักฐานตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 12 ธันวาคม 2543 อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าประกาศหวงห้ามที่ดินพิพาทที่ทางราชการได้ประกาศไปนั้นไม่มีข้อมูลรายละเอียดดังกล่าวข้างต้นส่อให้เห็นว่าเป็นลักษณะของประกาศหวงห้ามแบบเก่าที่มีอยู่ก่อนวันที่ 8 เมษายน 2479 ส่วนเหตุที่มีการลงทะเบียนในวันที่ 30 ตุลาคม 2481 นั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายสุกิจซึ่งอธิบายลักษณะการลงทะเบียนตามสมุดลงทะเบียนไว้ว่า ทะเบียนที่ดินลำดับที่ 1 ถึงที่ 30 เขียนด้วยลายมือเดียวกันไม่ระบุวันประกาศหวงห้าม คล้ายกับเป็นการรวบรวมลงทะเบียนที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่มีอยู่เดิมทั้งหมดและต่อจากลำดับที่ 30 ลงทะเบียนเป็นลำดับที่ 1 ถึงที่ 16 ด้วยลายมือชื่อแตกต่างกับลายมือเขียนอันดับที่ 1 ถึงที่ 30 และระบุวันประกาศหวงห้ามไว้ในคำอธิบายระบบการลงทะเบียนเอกสารแนบเอกสารหมาย ล. 5 ในย่อหน้าที่ 2 มีข้อความว่า “สำหรับการหวงห้ามที่มีมาก่อนใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ก็อนุโลมใช้ทะเบียนนี้ เพราะในกาลต่อไปอาจมีการถอนการหวงห้ามแต่ให้ใช้ทะเบียนอีกเล่มหนึ่ง เพื่อมิให้ปะปนกับการหวงห้ามที่ใช้พระราชบัญญัตินี้แล้ว” จึงสอดคล้องซึ่งมีเหตุผลให้น่ารับฟังว่าเป็นความจริง ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่นายตั้งบิดาโจทก์เข้าจับจองครอบครองที่ดินตาม ส.ค. 1 เอกสารหมาย จ. 1 ซึ่งมี ที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยนั้น ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ทางราชการได้ประกาศสงวนไว้ใช้ในราชการอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว นายตั้งจะอ้างการครอบครองที่ดินพิพาทขึ้นใช้ยันต่อแผ่นดินมิได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินจากนายตั้งจึงอ้างการครอบครองที่ดินพิพาทขึ้นใช้ยันต่อแผ่นดินมิได้ด้วยเช่นเดียวกัน คำคัดค้านของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และคำวินิจฉัยเปรียบเทียบของจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับที่ดินพิพาทจึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท.