คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 307/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินเพิ่มตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา กับเงินเพิ่มภาษีการค้าตามมาตรา 89 ทวิ แห่ง ป. รัษฎากร ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่นมิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง ทั้งบทมาตราดังกล่าวหาใช่บทกฎหมายใกล้เคียงที่จะนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มค่าภาษีก่อนได้ กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่มีประกันเท่า ๆ กัน ให้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เป็นอันได้เปลื้องไปก่อน เมื่อหนี้ค่าภาษีเป็นรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ เพราะมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมาย ดังนี้ หนี้ค่าภาษีย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง จึงต้องนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระไปหักชำระค่าภาษีก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียมพิเศษ และเงินเพิ่มแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของอากรขาเข้าที่จำเลยชำระขาดตามใบขนสินค้า นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรที่ค้างชำระจำนวน ๒,๒๔๗,๘๙๖.๙๖ บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยคิดตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ชนะคดี กำหนดค่าทนายความให้ ๕,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๕๓๓ ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๗ จำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรรวม ๕๙ ใบขน จำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าสำแดงว่าเป็นสินค้านำเข้ามาเพื่อผลิตเพื่อการส่งออกภายใน ๑ ปี นับแต่วันนำเข้า และจำเลยแสดงความจำนงขอคืนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๙ ทวิ โดยให้ธนาคารทำสัญญาค้ำประกันค่าภาษีไว้ จำเลยมิได้นำสินค้ามาผลิตและส่งออกภายใน ๑ ปี และมิได้นำเงินค่าภาษีไปชำระ จึงต้องชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๑๒ จัตวา กับเงินเพิ่มภาษีการค้าตามมาตรา ๘๙ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่นอัตราร้อยละ ๑๐ ของเงินเพิ่มภาษีการค้า พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ค้ำประกันนำเงินไปชำระตามสัญญาค้ำประกัน เมื่อผู้ค้ำประกันนำเงินมาชำระ พนักงานเจ้าหน้าที่นำมาชำระเงินเพิ่มก่อนส่วนที่เหลือจึงนำมาชำระค่าภาษี ซึ่งไม่เพียงพอยังคงค้างชำระอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองมีว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางให้นำเงินที่ผู้ค้ำประกันนำมาชำระไปหักชำระหนี้ค่าภาษีก่อนเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า เงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๑๒ จัตวา กับเงินเพิ่มภาษีการค้าตามมาตรา ๘๙ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่นมิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๒๙ วรรคหนึ่ง ทั้งบทมาตราดังกล่าวหาใช่บทกฎหมายใกล้เคียงที่จะนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ไม่ โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มค่าภาษีก่อนได้ กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่มีประกันเท่า ๆ กัน ให้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เป็นอันได้เปลื้องไปก่อน เมื่อหนี้ค่าภาษีเป็นรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เพราะมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมาย ดังนี้ หนี้ค่าภาษีย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๒๘ วรรคสอง ที่ศาลภาษีอากรกลางให้นำเงินไปหักชำระค่าภาษีก่อนเป็นการชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้ออื่นต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน จำเลยไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้.

Share