คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4120/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย กำหนดให้พนักงานระดับทั่วไปเกษียณอายุเมื่อครบ 50 ปี แต่เมื่อโจทก์มีอายุครบ 50 ปี จำเลยไม่ได้จัดให้โจทก์เกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับแต่ยังคงให้โจทก์ทำงานต่อไป ถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์และเป็นคุณแก่โจทก์อย่างยิ่งแล้ว ต่อมาภายหลังจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุตามข้อบังคับดังกล่าว ถือว่าเป็นข้ออ้างที่เป็นเหตุอันสมควร ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 60,000 บาท และ 40,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวด 9 ข้อ 2.3 กำหนดให้พนักงานระดับทั่วไปเกษียณอายุเมื่อครบ 50 ปี โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่ครบเกษียณอายุซึ่งโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะต้องเกษียณอายุในปี 2544 และปี 2542 ตามลำดับ แต่จำเลยมิได้จัดให้โจทก์ทั้งสองเกษียณในปีที่ครบเกษียณดังกล่าว เห็นว่า ขณะที่โจทก์ทั้งสองมีอายุครบ 50 ปี จำเลยย่อมมีสิทธิให้โจทก์ทั้งสองออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การที่จำเลยไม่ได้จัดให้โจทก์ทั้งสองเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแต่ยังคงให้โจทก์ทั้งสองทำงานต่อไปโดยโจทก์ที่ 1 ทำงานเกินกำหนดอายุการเกษียณถึง 2 ปี โจทก์ที่ 2 เกินกำหนดถึง 4 ปี นั้น เป็นการเอื้อประโยชน์และเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองเป็นอย่างยิ่งแล้ว หลังจากนั้นจำเลยย่อมสามารถที่จะอ้างเอาระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในเรื่องเกษียณอายุเมื่อครบ 50 ปี มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสองได้อีก ข้ออ้างที่จำเลยอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นข้ออ้างที่มีเหตุสมควร การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง

Share