คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1054/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติด ฯ ที่มีโทษจำคุกและปรับนั้น มาตรา 100/1 กำหนดให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ ดังนั้น การเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยตามมาตรา 97 ซึ่งให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง จึงต้องเพิ่มโทษทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ ที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำคุกเพียงอย่างเดียวโดยไม่เพิ่มโทษปรับด้วยจึงไม่ถูกต้อง และเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาปัญหานี้จึงเพิ่มโทษปรับที่จะลงแก่จำเลยไม่ได้เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ จำนวน ๑๐๐ เม็ด น้ำหนัก ๙.๔๐๐ กรัม คำนวณน้ำหนักเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๒.๒๖๐ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก มีกำหนด ๑๒ เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๓๖/๒๕๔๓ ของศาลชั้นต้น และพ้นโทษเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้ภายในเวลา ๕ ปี นับแต่วันพ้นโทษ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ , ๗ , ๘ , ๑๕ , ๖๖ , ๙๗ , ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒ สั่งริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสาม (ที่ถูก มาตรา ๑๕ วรรคสาม (๒)) , ๖๖ วรรคสอง จำคุก ๘ ปี และปรับ ๔๐๐,๐๐๐ บาท เพิ่มโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ กึ่งหนึ่ง รวมจำคุก ๑๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๖ ปี และปรับ ๒๐๐,๐๐๐ บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ , ๓๐ โดยให้กักขังเกินกว่า ๑ ปี แต่ไม่เกิน ๒ ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจวิเคราะห์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …โทษสำหรับความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ปริมาณที่กำหนดตามมาตรา ๑๕ วรรคสาม แต่ไม่เกินยี่สิบกรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา ๖๖ วรรคสอง มีโทษทั้งจำคุกและปรับ ซึ่งตามมาตรา ๑๐๐/๑ กำหนดให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สิน เพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษทั้งโทษปรับเป็นโทษชนิดหนึ่ง ดังนั้น การเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยตามมาตรา ๙๗ จึงต้องเพิ่มโทษทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ การที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำคุกแก่จำเลยเพียงอย่างเดียวโดยไม่เพิ่มโทษปรับด้วย จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจเพิ่มโทษปรับที่จะลงแก่จำเลยให้สูงกว่าโทษปรับที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาเพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษายืน.

Share