แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 30 ซึ่งออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ที่ระบุว่า ‘ในการจ่ายค่าจ้างค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด นายจ้างจะนำหนี้อื่นมาหักมิได้ นั้นหมายถึงห้ามมิให้นายจ้างนำหนี้อื่นที่ลูกจ้างเป็นหนี้นายจ้างหรือบุคคลอื่นมาหักกับค่าจ้างฯลฯ ที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเท่านั้น ไม่ได้ระบุห้ามไม่ให้เงินค่าจ้างอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี การที่ศาลออกหมายอายัดเงินค่าจ้างของจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้องตามคำขอของโจทก์นั้นจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(3)
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์และจำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยทั้งสามยอมใช้เงินให้โจทก์ 11,387 บาทศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญายอมความ โจทก์จึงร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินรายได้ของจำเลยที่ 2 ประมาณเดือนละ 2,000 บาท ไปยังบริษัทสยามกลการ จำกัด ผู้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ให้ส่งเงินรายได้ของจำเลยที่ 2 มายังเจ้าพนักงานบังคับคดีครึ่งหนึ่งทุกเดือนจนกว่าจะครบจำนวนหนี้ ศาลชั้นต้นได้ออกหมายอายัดถึงผู้จัดการบริษัทสยามกลการจำกัดตามคำขอของโจทก์
บริษัทสยามกลการจำกัดร้องคัดค้านว่า หมายอายัดขัดต่อกฎหมายเพราะเงินค่าจ้างที่บริษัทสยามกลการจำกัดจะต้องจ่ายให้จำเลยที่ 2ไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 30 ซึ่งออกตามความในข้อ 2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ที่ห้ามมิให้นายจ้างนำหนี้อื่นมาหักจากค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ขอให้สั่งเพิกถอนหมายอายัดและยกคำขอของโจทก์เสีย
โจทก์แถลงคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นเพียงนายจ้างของจำเลยที่ 2ไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจร้องคัดค้านประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ผู้ร้องอ้างเพียงห้ามมิให้นายจ้างนำหนี้ของนายจ้างหรือบุคคลอื่นมาหักจากค่าจ้างของลูกจ้างเท่านั้น มิได้ห้ามยึดหรืออายัดตามคำสั่งศาลขอให้ยกคำร้องขอผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างปฏิบัติตามหมายอายัดของศาลไม่ใช่เป็นเรื่องที่นายจ้างหาหนี้อื่นมาหักในการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอันต้องห้ามตามประกาศกระทรวงมหาดไทยตามที่ผู้ร้องอ้าง และประกาศดังกล่าวของกระทรวงมหาดไทยก็ไม่มีข้อห้ามมิให้ศาลอายัดเงินค่าจ้างของลูกจ้าง ทั้งหมายอายัดของศาลก็ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(3) ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 30 ซึ่งออกตามความในประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ที่ระบุว่า “ในการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดนายจ้างจะนำหนี้อื่นมาหักมิได้” นั้นหมายถึงห้ามมิให้นายจ้างนำหนี้อื่นที่ลูกจ้างเป็นหนี้นายจ้างหรือบุคคลอื่นมาหักกับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด ที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเท่านั้นและประกาศดังกล่าวของกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ได้ระบุห้ามไม่ให้เงินค่าจ้างของลูกจ้างอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(3)คือ ค่าจ้างส่วนที่เกินกว่าเดือนละ 40 บาทเมื่อไม่มีกฎหมายพิเศษบังคับไว้ประการใดแล้ว ให้อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีได้จนถึงจำนวนที่ศาลจะกำหนดตามที่เห็นสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป ที่ศาลออกหมายอายัดเงินค่าจ้างของจำเลยที่ 2 นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน