คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 783/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์ในคดีนี้ให้ออกจากตึก ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ขับไล่โจทก์ และศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับ จำเลยได้รื้อสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด และทำการปลูกสร้างใหม่ ต่อมาศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล่างว่า โจทก์มีสิทธิตามสัญญาเช่า โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากสัญญาเช่านั้นได้โดยการเข้าครอบครองใช้สิทธิในทรัพย์ที่เช่า หรือให้เช่าช่วง การที่โจทก์ไม่สามารถหาประโยชน์จากทรัพย์ที่เช่าได้ เพราะดำเลยได้รื้อถอนเสียแล้ว เช่นนี้โจทก์ย่อมฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ เพราะการชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นการพ้นวิสัย โดยที่จำเลยในฐานะผู้ให้เช่าไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้แก่ผู้เช่าคือโจทก์ได้ และการฟ้องร้องในกรณีเป็นเรื่องฟ้องร้องโดยอาศัยมูลสัญญา หาใช่มูลละเมิดไม่
คดีก่อนก่อนจำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากตึกและเรียกค่าเช่าที่ค้างกับค่าเสียหาย คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาเช่า ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการให้เช่าช่วงทรัพย์ที่เช่า ประเด็นแห่งคดีที่จะต้องวินิจฉัยเป็นคนละประเด็นกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้เช่าตึกแถวสองชั้นกับโรงไม้ และห้องแถวไม้อีก ๗ ห้อง ไว้จากตัวแทนของเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต มีกำหนด ๑๐ ปี โดยจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาจำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากตึกและห้องแถวดังกล่าวโดยอ้างว่าได้รับมรดกทรัพย์ดังกล่าวจากเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต และสัญญาเช่าของจำเลยไม่ได้จดทะเบียน จึงมีอายุการเช่าเพียง ๓ ปี ตามคดีศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๒๑/๒๕๐๘ ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาว่าสัญญาเช่านั้นได้มีการจดทะเบียน และยังไม่ครบกำหนดการเช่า ให้ยอกคำขอของจำเลยที่ให้ขับไล่โจทก์ ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวจำเลยได้เข้าเก็บค่าเช่าห้องแถวไม้ทั้ง ๗ ห้องเป็นเวลา ๖๐ เดือนเป็นเงิน ๒๑,๐๐๐ บาท และเมื่อคิดถึงวันครบกำหนดสัญญาเช่าเป็นเวลาอีก ๒ ปี ๑๑ เดือน คิดเป็นเงิน ๑๒,๒๕๐ บาท รวมเป็นเงินค่าเช่าทั้งสิ้น ๓๓,๒๕๐ บาท สำหรับตึกแถว และโรงไม้นั้นจำเลยได้รื้อออก ทำให้โจทก์ขาดรายได้ซึ่งเคยได้รับจาการให้เช่าโรงไม้ดังกล่าวนับแต่วันรื้อจนครบสัญญาเช่าเป็นเวลา ๕ ปี ๑๐ เดือน เป็นเงิน ๑๐๕,๑๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าห้องแถวไม้รวม ๓๓,๐๐๐ บาท และค้าเช่าโรงไม้รวม๑๐๕,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เดิมนายประพาสพี่ชายโจทก์กับโจทก์ได้เช่าตึกเลขที่ ๗ กับที่ดินที่ติดต่อกับตัวตึกจากตัวแทนของเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต แล้วปลูกห้องแถวไม้ตามฟ้องขึ้น ๗ ห้อง เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว สิ่งต่อเติมตึกเลขที่ ๗ และห้องแถวไม้ ดังกล่าวตกเป็นของเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิตทั้งหมด โดยโจทก์และพี่ชายโจทก์เป็นผู้เช่าตลอดมา เมื่อเจ้าพระยาบดินทร์ เดชานุชิตถึงแก่อนิจกรรม ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ตกได้แก่จำเลยตามพินัยกรรม โจทก์กับนายประพาสผิดนัดไม่ชำระค้าเช่าตามกำหนด ผู้จัดการมรดกของเจ้าพระยาบดินทร์ เดชานุชิต จึงฟ้องขับไล่โจทก์กับนายประพาส ศาลพิพากษาขับไล่โจทก์และนายประพาสออกจากตึก และห้องแถวดังกล่าว ตามคดีหมายเลขแดงที่ ๓๖๒๘/๒๕๐๔ ของศาลแพ่ง นายประพาสได้มอบห้องแถวไม้คืนแก่จำเลย ผู้เช่าห้องแถวไม้ได้ยอมชำระค่าเช่าที่ค้างบางส่วนให้จำเลย จำเลยจึงให้เช่าต่อมา คดีดังกล่าวนี้ถึงที่สุดแล้ว สำหรับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๒๑/๒๕๐๘ ของศาลแพ่งนั้นจำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากตึกเลขที่ ๗ กับโรงไม้ที่ติดกับตึกเท่านั้น ศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ขับไล่โจทก์ โจทก์ฎีกาและขอทุเลาการบังคับ ศาลฎีกาไม่อนุญาต โจทก์จึงขนย้ายออกไป จำเลยเห็นว่าตึกหลังนั้นทรุดโทรมมาก จึงได้รื้อออกและปลูกตึกแถวขึ้นใหม่การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายโดยสุจริต โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยมิได้ หากโจทก์จะเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ ๑๐๐ บาท ทั้งโจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยละเมิดเมื่อเกิน ๑ ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๓๖๒๘/๒๕๐๔ และหมายเลขแดงที่ ๑๒๑/๒๕๐๘ ของศาลแพ่ง ขอให้ยอกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงรับกันว่าสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่โจทก์เช่าจากจำเลยนั้น จำเลยรื้อและปลูกสร้างใหม่หมดแล้ว เรื่องค่าเสียหายนั้นหากจำเลยต้องรับผิด จำเลยยอมชดใช้ให้เป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท โจทก์ตกลงไม่เรียกดอกเบี้ย คู่ความรับข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฏในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ๑๒๑/๒๕๐๘ แล้วต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ๓๖๒๘/๒๕๐๔ เพราะโจทก์ในคดีนั้นไม่ติดใจให้ศาลบังคับคดีต่อไป เนื่องจากโจทก์ในคดีนี้ ได้ทำสัญญาเช่าใหม่กับตัวแทนของเจ้าพระยาบดินทร์ เดชานุชิตแล้ว คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๓๖๒๘/๒๕๐๔ และคดีหมายเลขแดงที่ ๑๒๑/๒๕๐๘ โจทก์มีสิทธิตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่จะเข้าครอบครองหาประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า การที่จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไป ทำให้สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๘๐,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ข้อที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายมิได้ เพราะการที่จำเลยรื้อตึกพิพาทนั้น เป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง และศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้ขับไล่โจทก์ และศาลฎีกาก็ไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้คดีก่อน จำเลยจะชนะคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๑ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๗ นั้น การยื่นอุทธรณ์ฎีกาย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม ย่อมต้องหมายความว่าในกรณีที่ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลดังกล่าวทั้งสอง จำเลยในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็จะต้องพร้อมที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้เสมอ ถ้าการชำระหนี้นั้นกลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้ เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบ จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้ เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่การไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๑๘ ถ้าหากจะถือว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดเสียเลย ดังที่จำเลยฎีกาก็เท่ากับถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ถึงที่สุด และคำพิพากษาศาลฎีกาไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ เมื่อศาลฎีกาพิพากษาในคดีก่อนว่าโจทก์ยังมีสิทธิตามสัญญาเช่า โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากสัญญาเช่านั้นได้ กล่าวคือเข้าครอบครองใช้สิทธิในทรัพย์ที่เช่า หรือให้เช่าช่วงก็ได้ การที่โจทก์ไม่สามารถหาประโยชน์จากทรัพย์ที่เช่าได้ เพราะจำเลยได้รื้อถอนเสียแล้วเช่นนี้ จำเลยย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ เพราะการชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นการพ้นวิสัย โดยที่จำเลยในฐานะผู้ให้เช่าไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้แก่ผู้เช่าคือโจทก์ได้ คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๔๓/๒๔๙๔ ข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน จะนำมาปรับกับคดีนี้ไม่ได้
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความละเมิดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าช่วงจากโจทก์ทั้ง ๆ ที่สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต ยังไม่ครบกำหนด เท่ากับฟ้องว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าดังกล่าว คือไม่ให้โจทก์เก็บค่าเช่าจากผู้เช่าช่วงจนครบกำหนดตามสัญญาเช่าดังกล่าว จึงเป็นเรื่องฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยผิดสัญญาเช่า หาใช่เรื่องละเมิดไม่ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๑๒๑/๒๕๐๘ นั้นศาลฎีกาเห็นว่า คดีหมายเลขแดงที่ ๑๒๑/๒๕๐๘ จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากตึกเลขที่ ๗ และเรียกค่าเช่าที่ค้างกับค่าเสียหาย แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาเช่า ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการให้เช่าช่วงตึก และห้องแถวประเด็นแห่งคดีที่จะต้องวินิจฉัยจึงเป็นคนละประเด็น ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
พิพากษายืน

Share