แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีทั้งสองสำนวนพิพาทกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ชำระค่าขึ้นศาลจำนวน 57,420 บาท แล้ว ดังนี้ โดยปกติวิสัยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็ชอบที่จะต้องวางค่าธรรมเนียมการส่งสำเนาอุทธรณ์ซึ่งเป็นเงินเพียง 240 บาท ตามคำสั่งศาลชั้นต้น ส่วนรายงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเสนอต่อศาลว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลนั้น เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ล่าช้าถึง 6 เดือน ทั้งๆ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 วางค่าธรรมเนียมดังกล่าวภายใน 7 วัน ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 6 ตุลาคม 2542 ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทราบเหตุดังกล่าวตามรายงานเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็ได้ยื่นคำแถลงยืนยันว่าได้วางค่าธรรมเนียมการส่งสำเนาอุทธรณ์ตามคำสั่งศาลแล้ว อีกทั้งได้ดำเนินการขอตรวจสมุดรับเงินค่าธรรมเนียมการส่งหมายในช่วงระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2542 จนถึงสิ้นปีแต่เจ้าพนักงานศาลผู้รับผิดชอบแจ้งว่าสมุดดังกล่าวสูญหาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงแสดงเจตนาพร้อมจะวางค่าธรรมเนียมการส่งสำเนาอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เอาใจใส่คดี และเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานศาลแล้วตามระเบียบราชการจะต้องจะต้องเก็บรักษาเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและต้องใช้เป็นหลักฐานในทางราชการ เว้นแต่จะถึงกำหนดเวลาต้องทำลายตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการปรากฏว่านอกจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จะได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานศาลผู้รับผิดชอบว่าสมุดคุมการส่งหมายในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2542 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2542 สูญหายแล้ว และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 หลังจากได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้คู่ความทราบแล้วให้เจ้าพนักงานศาลที่เกี่ยวข้องดำเนินการค้นหาสมุดบัญชีเวรรับเงินนำหมายในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานศาลผู้รับผิดชอบก็ยังคงรายงานต่อศาลเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2544 ว่าสมุดเล่มนั้นสูญหายไปจึงชี้ให้เห็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานศาล รายงานเจ้าหน้าที่มีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ พฤติการณ์แห่งคดีประกอบข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้จงใจละทิ้งไม่วางเงินค่าธรรมเนียมการส่งสำเนาอุทธรณ์ตามคำสั่งศาลไม่เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งสองสำนวนรวมทั้งฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในสำนวนแรก โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน โดยยื่นอุทธรณ์ในวันเดียวกันคือวันที่ 29 กันยายน 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนในวันดังกล่าว และกำหนดให้ผู้อุทธรณ์วางค่าธรรมเนียมการส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน 7 วัน
วันที่ 29 มีนาคม 2543 นางสุขสิริ แย้มกลิ่นพุฒ เจ้าพนักงานศาลเสนอรายงานเจ้าหน้าที่ต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่วางเงินค่าธรรมเนียมการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ โดยได้ตรวจสอบจากทะเบียนคุมการส่งหมายของศาลแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “ส่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาสั่ง” ปรากฏว่ามีบันทึกของเจ้าพนักงานศาลคนเดิมเขียนบันทึกถ้อยคำไว้ท้ายรายงานลงวันที่วันเดียวกันว่า “ศาลมีคำสั่งให้รอผลการส่งหมายของจำเลยที่ 4 ด้วย แล้วจึงส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์พิจารณาทีเดียว”
วันที่ 1 พฤษภาคม 2544 เจ้าพนักงานศาลคนเดียวกันเสนอรายงานเจ้าหน้าที่ต่อศาลชั้นต้นอีกครั้งหนึ่งขอส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับเหตุที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่วางเงินค่าธรรมเนียมการส่งสำเนาอุทธรณ์และขอทำหนังสือติดตามผลหมายของจำเลยที่ 4 อีกครั้งต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ส่งสำนวนพร้อมคำพิพากษาไปยังศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2544
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้วางเงินค่าธรรมเนียมการส่งสำเนาอุทธรณ์ตามคำสั่งศาลแล้ว แต่เมื่อทราบรายงานเจ้าหน้าที่ทั้งสองฉบับดังกล่าว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ขอตรวจสอบสมุดรับเงินค่าธรรมเนียมส่งหมายในช่วงวันที่ 29 กันยายน 2542 จนถึงสิ้นปีจากเจ้าพนักงานศาลผู้รับผิดชอบและได้รับแจ้งว่าสมุดดังกล่าวสูญหาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงขอวางเงินค่าธรรมเนียมการส่งสำเนาอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตและยกคำแถลง
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2544 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา (ที่ถูกคำสั่ง) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เพิกเฉยไม่ดำเนินการนำหมายส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 ให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ออกจากสารบบความและในวันเดียวกัน ทนายจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ค้นหาสมุดบัญชีเวรรับเงินนำหมายของคู่ความคดีแพ่งระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2542 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2542 ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2544 เจ้าพนักงานศาลรายงานว่าหาไม่พบ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีทั้งสองสำนวนนี้พิพาทกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดก ทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 สูงถึง 2,296,772 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็ได้ชำระค่าขึ้นศาลจำนวน 57,420 บาท แล้วดังนี้ โดยปกติวิสัยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็ชอบที่จะต้องวางค่าธรรมเนียมการส่งสำเนาอุทธรณ์ซึ่งเป็นเงินเพียง 240 บาท ตามคำสั่งศาลชั้นต้น ส่วนรายงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเสนอต่อศาลว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลนั้น เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ล่าช้าถึง 6 เดือน ทั้งๆ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 วางค่าธรรมเนียมดังกล่าวภายใน 7 วัน ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 6 ตุลาคม 2542 ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทราบเหตุดังกล่าวตามรายงานเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็ได้ยื่นคำแถลงยืนยันว่าได้วางค่าธรรมเนียมการส่งสำเนาอุทธรณ์ตามคำสั่งศาลแล้ว อีกทั้งได้ดำเนินการขอตรวจสอบสมุดรับเงินค่าธรรมเนียมการส่งหมายในช่วงระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2542 จนถึงสิ้นปี แต่เจ้าพนักงานศาลผู้รับผิดชอบแจ้งว่าสมุดดังกล่าวสูญหาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงแสดงเจตนาพร้อมจะวางค่าธรรมเนียมการส่งสำเนาอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง จะเห็นได้ว่าพฤติการณ์ที่ปรากฏมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เอาใจใส่คดี และเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานศาลแล้ว ตามระเบียบราชการจะต้องเก็บรักษาเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและต้องใช้เป็นหลักฐานในทางราชการ เว้นแต่จะถึงกำหนดเวลาต้องทำลายตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการ ปรากฏว่านอกจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จะได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานศาลผู้รับผิดชอบว่า สมุดคุมการส่งหมายในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2542 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2542 สูญหายแล้ว และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 หลังจากได้อ่านคำพิพากษา (ที่ถูกคำสั่ง) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้คู่ความทราบแล้วให้เจ้าพนักงานศาลที่เกี่ยวข้องดำเนินการค้นหาสมุดบัญชีเวรรับเงินนำหมายในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานศาลผู้รับผิดชอบก็ยังคงรายงานต่อศาลเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2544 ว่าสมุดเล่มนั้นสูญหายไป ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจึงชี้ให้เห็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานศาลรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2543 มีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ พฤติการณ์แห่งคดีประกอบข้อเท็จจริงที่ปรากฏเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มิได้จงใจละทิ้งไม่วางเงินค่าธรรมเนียมการส่งสำเนาอุทธรณ์ตามคำสั่งศาล ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำหน่ายอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ออกจากสารบบความเพราะเหตุทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษา (ที่ถูกคำสั่ง) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นจัดการให้เจ้าพนักงานศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้แก่โจทก์แล้วส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป