แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดซึ่งอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกันได้ แม้เมทแอมเฟตามีนที่จำหน่ายไปจะเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยที่ 1 ได้จำหน่ายไปในเวลาที่ต่อเนื่องกันก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาแยกการมีเมทแอมเฟตามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายต่างหากจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตั้งแต่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ล่อซื้อแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และคืนธนบัตรของกลางที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานเสพเมทแอมเฟตามีน แต่ให้การปฏิเสธในข้อหาอื่น
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 7 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 12 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 ปี และฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 8 ปี 6 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 6 ปี 6 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และคืนธนบัตรของกลางที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 (ที่แก้ไขใหม่) ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกคนละ 4 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามและกึ่งหนึ่งตามลำดับแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 2 ปี 8 เดือน ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี 11 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 2 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 3 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 19 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 1 เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 143 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 3 เม็ด ให้แก่ผู้ล่อซื้อ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 3 เม็ด ที่จำหน่ายให้สายลับและจำนวน 140 เม็ด ที่ตรวจค้นพบที่จำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเดียวกันกับที่จำเลยจำหน่ายและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในราคาเดียวกันต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวมิใช่หลายกรรมตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1213/2533 และ 2534/2533 นั้น เห็นว่า การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดซึ่งอาศัยเจตนาในการกระทำความผิด แยกต่างหากจากกันได้ แม้เมทแอมเฟตามีนจำนวน 3 เม็ด ที่จำหน่ายไปจะเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยที่ 1 ได้จำหน่ายไปในเวลาที่ต่อเนื่องกันก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาแยกการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายต่างหากจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตั้งแต่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ล่อซื้อแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมเดียวไม่ ส่วนคำพิพากษาที่จำเลยที่ 1 อ้างประกอบฎีกาว่า การกระทำของจำเลยตามฎีกาดังกล่าว เป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียวนั้น ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน