คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1872/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 77 เม็ด ไว้ในครอบครองอยู่ภายในห้องพักของจำเลยนั้น ถึงแม้มีจำนวนมิใช่น้อย แต่ก็อยู่ในวิสัยที่อาจมีไว้เพื่อเสพเองก็ได้ เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยในการครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายคงฟังได้เพียงว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น และศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องได้ เพราะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำความผิดที่รวมอยู่ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง ซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองทั้งตามคำขอท้ายฟ้องยังระบุมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ซึ่งเป็นบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตไว้ด้วยแล้ว
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 8 และ 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และ 67 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในบทความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งกฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้ฉบับเดิมบังคับแก่จำเลยในส่วนนี้ ส่วนบทกำหนดโทษนั้น มาตรา 67 กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดและกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวได้ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 79 เม็ด นำหนัก 7.28 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด อันเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 200 บาท เหตุเกิดที่แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 2 ฉบับ รวม 200 บาท ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและค้นพบเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่เหลือจากการจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อจำนวน 77 เม็ด และได้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับอีกจำนวน 2 เม็ด เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและคืนธนบัตรล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 7 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 12 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและคืนธนบัตรล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลฉลองกรุงได้จับกุมจำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 79 เม็ด และธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 2 ฉบับ เป็นของกลาง ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีจ่าสิบตำรวจสุนทร เนื้อนาบุญ และสิบตำรวจเอกไพโรจน์ ชื่นชมน้อย เป็นพยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุได้สืบทราบว่ามีการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในสถานที่เกิดเหตุจึงได้วางแผนล่อซื้อ ร้อยตำรวจโทอนุรักษ์ ยังสูน ถ่ายสำเนาธนบัตรของกลางเอกสารหมาย จ.2 และนำไปบันทึกหมายเลขธนบัตรในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.1 จากนั้นจ่าสิบตำรวจสุนทรและสิบตำรวจเอกไพโรจน์กับพวกได้พาสายลับไปสถานที่เกิดเหตุและมอบธนบัตรของกลางให้สายลับไปซื้อเมทแอมเฟตามีนสายลับนำธนบัตรไปในห้องพักของจำเลยแล้วกลับมามอบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด ให้แก่จ่าสิบตำรวจสุนทรกับพวกพร้อมกับแจ้งว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด หญิงผิวคล้ำ สวมเสื้อกล้ามสีดำ ผ้าถุงลายดอก ห้องพักเลขที่ 17 จ่าสิบตำรวจสุนทรและสิบตำรวจเอกไพโรจน์กับพวกจึงเข้าไปในห้องพักของจำเลยตรวจค้นตัวจำเลยไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย ตรวจค้นภายในห้องพบธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 2 ฉบับ มีหมายเลขตรงกับที่ถ่ายสำเนาไว้อยู่ภายในกระป๋องเก็บเงินเมทแอมเฟตามีนจำนวน 17 เม็ดอยู่ในหลอดกาแฟปิดหัวท้ายซุกซ่อนอยู่ในปากกาเขียนกระดาน และเมทแอมเฟตามีนอยู่ในหลอดกาแฟปิดหัวท้ายหลอดละ 10 เม็ด จำนวน 6 หลอดซุกซ่อนอยู่ในปกเสื้อแจ็กเก็ตแขวนอยู่ภายในห้อง เห็นว่า ในการตรวจค้นจำเลยและห้องพักของจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจค้นได้ธนบัตรของกลางซึ่งอยู่ภายในกระป๋องใส่เงิน โดยจ่าสิบตำรวจสุนทรเบิกความว่า กระป๋องเก็บเงินอยู่ที่พื้นห้องข้างตัวจำเลยและได้บันทึกข้อความดังกล่าวลงในสำเนาธนบัตรเอกสารหมาย จ.2 และ จ.5 แต่สิบตำรวจเอกไพโรจน์เบิกความว่า ตนเป็นผู้ค้นพบธนบัตรของกลางอยู่ภายในกระป๋องวางอยู่ในตู้เสื้อผ้า นอกจากนั้นเมื่อตรวจดูสำเนาบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.1 ตรงช่องเวลามีการลงเวลาไว้ครั้งแรก 13 นาฬิกา แต่แล้วภายหลังได้แก้ไขเป็นเวลา 12 นาฬิกา และบันทึกการตรวจค้นจับกุมเอกสารหมาย จ.4 ลงเวลาในครั้งแรกเป็น 13 นาฬิกาเศษ แต่ภายหลังมีการแก้ไขเป็นเวลา 14.30 นาฬิกา ทำให้มีข้อน่าสงสัยว่ามีสายลับนำธนบัตรของกลางมาล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยจริงหรือไม่ ทั้งในการซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยโจทก์แต่คำเบิกความของจ่าสิบตำรวจสุนทรและสิบตำรวจเอกไพโรจน์ว่า สายลับนำธนบัตรของกลางไปในห้องพักที่เกิดเหตุนานประมาณ 10 นาที จึงกลับมาและนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด มอบให้บอกว่าซื้อมาจากจำเลยในราคาเม็ดละ 100 บาท จำเลยเป็นหญิงผิวคล้ำ สวมเสื้อกล้ามสีดำ ผ้าถุงลายดอก ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่า ส่วนคำรับของจำเลยที่ปรากฏในบันทึกการตรวจค้นจับกุมเอกสารหมาย จ.4 ก็เป็นพยานบอกเล่าเช่นเดียวกัน พยานหลักฐานของโจทก์ในข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมีความน่าสงสัยตามสมควร ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นแก่จำเลย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ในข้อนี้พยานหลักฐานของโจทก์ได้ความว่า เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 17 เม็ด บรรจุในหลอดกาแฟปิดหัวท้ายซุกซ่อนอยู่ภายในปากกาสำหรับเขียนกระดานวางอยู่ข้างตัวจำเลย และจำนวน 60 เม็ด บรรจุหลอดกาแฟปิดหัวท้ายจำนวน 6 หลอดซุกซ่อนอยู่ภายในปกเสื้อแจ็กเก็ตซึ่งแขวนอยู่ในห้องพักของจำเลย เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองห้องพักที่เกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุจำเลยก็อยู่ภายในห้อง ทั้งเมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนที่ถูกค้นพบนั้นซุกซ่อนอยู่ในปากกาและเสื้อซึ่งอยู่ภายในห้อง เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจึงอยู่ในครอบครองของจำเลย ที่จำเลยนำสืบว่าขณะเกิดเหตุมีนายชาตรีและนางบังอรอยู่ภายในห้องที่เกิดเหตุและนายชาตรีเป็นเจ้าของเสื้อแจ็กเก็ตซึ่งค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 60 เม็ด ซ่อนอยู่ภายในปกเสื้อนั้น เห็นว่า ความข้อนี้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในชั้นสอบสวนและในชั้นที่จำเลยร้องขอความเป็นธรรมต่อเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานอัยการตามเอกสารหมาย ล.4 คงมีแต่คำเบิกความของนางสาวสุพรรณษาพยานจำเลยซึ่งเบิกความลอยๆ จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ แต่การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 77 เม็ด ไว้ในครอบครองอยู่ภายในห้องพักของจำเลยนั้น ถึงแม้เมทแอมเฟตามีนมีจำนวนมิใช่น้อยแต่ก็อยู่ในวิสัยที่อาจมีไว้เพื่อเสพเองก็ได้ เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนฟ้องและพิสูจน์ให้ได้ความว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยในการครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงฟังได้เพียงว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น และศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าความผิดฐานเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องได้ เพราะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำความผิดที่รวมอยู่ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง ซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ทั้งตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ยังได้ระบุมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตไว้ด้วยแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยในบทความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยในส่วนนี้ ส่วนบทกำหนดโทษนั้นตามมาตรา 67 กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) 67 (ที่แก้ไขใหม่) ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี ยกฟ้องข้อหาอื่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share