คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3061/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงร่วมระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชากำหนดให้จำเลยมีอำนาจบริหารที่จะแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานทุกระดับชั้นได้ตามเหตุผลและความจำเป็นเพื่อให้การบริหารงานบุคคลของจำเลยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การแต่งตั้งโยกย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดสภาพการจ้างและค่าจ้างของพนักงานนั้น จำเลยในฐานะนายจ้างจึงมีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลด้วยการจัดให้ลูกจ้างเข้าทำงานรับผิดชอบตามตำแหน่งหน้าที่ในแต่ระดับชั้นที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของลูกจ้าง ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่กิจการของนายจ้าง
ก่อนย้ายโจทก์ทั้งห้าปฏิบัติงานอยู่ในระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษซึ่งมิใช่ระดับชั้นเจ้าหน้าที่บริหาร เมื่อย้ายแล้วโจทก์ทั้งห้าก็ยังคงปฏิบัติงานอยู่ในระดับชั้นพิเศษเช่นเดิม โดยไม่ปรากฏว่ามีตำแหน่งใดในระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษที่มีลักษณะงานด้อยกว่ากันอย่างชัดเจนแต่กลับปรากฏว่าแต่ละตำแหน่งมีความสำคัญพอ ๆ กัน ทั้งอัตราค่าจ้างที่โจทก์ทั้งห้าได้รับจากจำเลยก็ไม่ได้ลดลง คำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งในระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษด้วยกันจึงไม่อาจถือว่าเป็นการเพิ่มหรือลดตำแหน่งที่มีผลให้สภาพการจ้างเดิมด้อยลง ประกอบกับคำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งโจทก์ทั้งห้าของจำเลยเป็นการใช้อำนาจบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรที่จะแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อให้การบริหารงานบุคคลของจำเลยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพการที่จำเลยย้ายโจทก์ทั้งห้ายังอยู่ในระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษเช่นเดิมและอัตราค่าจ้างไม่ได้ลดลง จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญาจ้างหรือผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง คำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งโจทก์ทั้งห้าของจำเลยจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องและโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 แก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่ง ประเภทละเดือน เดือนละ 3,000 บาท เงินค่าเช่าบ้านเดือนละ 6,000 บาท รวมแต่ละประเภทเป็นเวลา 71 เดือน ค่าชดเชย 300 วัน ที่คำนวณจากเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มพิเศษประจำเดือนดังกล่าวรวม 912,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 5,000 บาท เงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งเดือนละ 4,750 บาท แต่ละประเภทเป็นเวลา 120 เดือน ค่าเช่าบ้านเดือนละ 4,000 บาท รวม 7 เดือน (ขณะประจำฝ่ายอำนวยการที่กรุงเทพมหานคร) เงินเดือนที่ต้องปรับจากเดือนละ 24,040 บาท เป็นเดือนละ 30,000 บาท รวม 120 เดือน และโบนัสของเงินเดือนที่ต้องปรับเพิ่มปีละ 3 เท่าของเงินเดือนที่ขาดหายเดือนละ 5,960 บาท รวม 10 ปี รวม 2,102,000 บาท ให้จ่ายเงินเดือนเดือนละ 5,960 บาท เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 5,000 บาท และเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งเดือนละ 4,750 บาท เป็นรายเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 เป็นต้นไปจนกว่าเกษียณอายุแก่โจทก์ที่ 2 เงินเดือนที่ต้องปรับจากเดือนละ 2,045 บาท รวม 48 เดือน เดือนละ 2,085 บาท รวม 6 เดือน ค่าเช่าบ้านเดือนละ 8,000 บาท เป็นเวลา 30 เดือน รวม 350,670 บาท แก่โจทก์ที่ 3 เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 106 เดือน เงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งเดือนละ 1,200 บาท เป็นเวลา 40 เดือน รวม 561,000 บาท และเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งเดือนละ 3,000 บาท ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 เป็นต้นไปจนเกษียณอายุแก่โจทก์ที่ 4 และเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 7,500 บาท 97 เดือน เงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งเดือนละ 5,000 บาท 97 เดือน ค่าเช่าบ้านเดือนละ 8,000 บาท 97 เดือน รวม 1,987,500 บาท เงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งเดือนละ 7,500 บาท และเงินค่าเช่าบ้านเดือนละ 7,500 บาท นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะเกษียณอายุงานแก่โจทก์ที่ 5 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามทางนำสืบของคู่ความที่ไม่โต้เถียงกันได้ความว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยมีตำแหน่งสุดท้ายก่อนถูกย้าย คือ โจทก์ที่ 1 ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ สาขาถนนเศรษฐกิจ 1 จังหวัดสมุทรสาคร โจทก์ที่ 2 ตำแหน่งผู้จัดการสาขาป่าติ้ว จังหวัดยโสธร โจทก์ที่ 3 ตำแหน่งผู้จัดการสาขาบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โจทก์ที่ 4 ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการด้านธนาคาร จังหวัดฉะเชิงเทรา และโจทก์ที่ 5 ตำแหน่งผู้จัดการสาขาแม่สาย จังหวัดเชียงราย ต่อมาจำเลยย้ายโจทก์ทั้งห้าไปดำรงตำแหน่งอื่นกล่าวคือ ย้ายโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่อำนวยสินเชื่ออาวุโส 2 สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร ย้ายโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 และประจำฝ่ายอำนวยการ สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร ย้ายโจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษ ประจำภาคใต้ 2 (ต่อมาเรียกว่าภาคกลาง 3) ที่กรุงเทพมหานคร ย้ายโจทก์ที่ 4 เป็นพนักงานพิธีการสินเชื่ออาวุโส สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร และย้ายโจทก์ที่ 5 เป็นเจ้าหน้าที่พิธีการสินเชื่ออาวุโส สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ในการปรับปรุงโครงสร้างตำแหน่งงานของจำเลยนั้นจำเลยได้แจ้งเปลี่ยนระบบงานและเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ให้สหภาพแรงงานและลูกจ้างของจำเลยทราบแล้วตามข้อตกลงร่วมระหว่าง บริษัทธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กับสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคารกรุงเทพ ข้อ 8 การที่จำเลยย้ายตำแหน่งโจทก์ทั้งห้าซึ่งอยู่ในระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษทั้งหมดไปดำรงตำแหน่งใหม่ ซึ่งอยู่ในระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษเช่นเดิมนั้น เป็นการปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานภายในระดับเดียวกันให้เหมาะสม ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าเดิม และไม่ได้มีการลดระดับชั้นต่ำกว่าเดิม คำสั่งย้ายโจทก์ทั้งห้าของจำเลยจึงไม่เป็นการลดตำแหน่ง เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ทั้งห้าไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าว่า คำสั่งย้ายโจทก์ทั้งห้าเป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงร่วมระหว่าง บริษัทธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กับสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคารกรุงเทพ ข้อ 11.15 กำหนดให้จำเลยมีอำนาจบริหารที่จะแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานทุกระดับชั้นได้ตามเหตุผลและความจำเป็นเพื่อให้การบริหารงานบุคคลของจำเลยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ดีการแต่งตั้งโยกย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดสภาพการจ้างและค่าจ้างของพนักงานนั้น จำเลยในฐานะนายจ้างจึงมีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลด้วยการจัดให้ลูกจ้างเข้าทำงานรับผิดชอบตามตำแหน่งหน้าที่ในแต่ระดับชั้นที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของลูกจ้าง ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่กิจการของนายจ้าง คดีนี้ จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ได้จัดแบ่งระดับชั้นการปฏิบัติงานของลูกจ้างตามคำสั่งระเบียบงานที่ 43/2538 ไว้ 13 ระดับชั้น จากระดับชั้นสูงสุดไปถึงต่ำสุด คือ 1. เจ้าหน้าที่บริหารชั้นผู้จัดการใหญ่ 2. เจ้าหน้าที่บริหารชั้นรองผู้จัดการใหญ่ 3. เจ้าหน้าที่บริหารชั้นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส 4. เจ้าหน้าที่บริหารชั้นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ 5. เจ้าหน้าที่บริหารชั้นรองผู้จัดการอาวุโส 6. เจ้าหน้าที่บริหารชั้นรองผู้จัดการ 7. เจ้าหน้าที่บริหารชั้นผู้ช่วยผู้จัดการ 8. เจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษ 9. เจ้าหน้าที่ชั้นเอก 10. เจ้าหน้าที่ชั้นโท 11. เจ้าหน้าที่ชั้นตรี 12. เจ้าหน้าที่อันดับหนึ่ง 13. เจ้าหน้าที่อันดับสอง โจทก์ทั้งห้าได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษ ซึ่งเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษประกอบด้วยตำแหน่งผู้จัดการสาขา ผู้ช่วยผู้จัดการสาขา สมุห์บัญชี ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่อำนวยสินเชื่ออาวุโส เจ้าหน้าที่อำนวยการบริการอาวุโสและเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษก็มิใช่ระดับชั้นเจ้าหน้าที่บริหาร ดังนี้ เมื่อจำเลยย้ายโจทก์ที่ 1 จากตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ สาขาถนนเศรษฐกิจ 1 จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเจ้าหน้าที่อำนวยสินเชื่ออาวุโส 2 สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร โจทก์ที่ 2 จากตำแหน่งผู้จัดการสาขาป่าติ้ว จังหวัดยโสธร เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 และประจำฝ่ายอำนวยการ สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร โจทก์ที่ 3 จากตำแหน่งผู้จัดการสาขาบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษประจำภาคใต้ (ซึ่งต่อมาเรียกว่า ภาคกลาง 3) ที่กรุงเทพมหานคร โจทก์ที่ 4 จากตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการด้านธนาคาร จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพนักงานพิธีการสินเชื่ออาวุโสประจำฝ่าย เจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร และย้ายโจทก์ที่ 5 จากตำแหน่งผู้จัดการสาขาแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นเจ้าหน้าที่พิธีการสินเชื่ออาวุโสประจำฝ่ายปฏิบัติหน้าที่สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยก่อนย้ายโจทก์ทั้งห้าปฏิบัติงานอยู่ในระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษซึ่งมิใช่ระดับชั้นเจ้าหน้าที่บริหาร เมื่อย้ายแล้วโจทก์ทั้งห้าก็ยังคงปฏิบัติงานอยู่ในระดับชั้นพิเศษเช่นเดิม โดยไม่ปรากฏว่ามีตำแหน่งใดในระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษที่มีลักษณะงานด้อยกว่ากันอย่างชัดเจน แต่กลับปรากฏว่าแต่ละตำแหน่งมีความสำคัญพอ ๆ กัน ทั้งอัตราค่าจ้างที่โจทก์ทั้งห้าได้รับจากจำเลยก็ไม่ได้ลดลง คำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งในระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษด้วยกัน จึงไม่อาจถือว่าเป็นการเพิ่มหรือลดตำแหน่งที่มีผลให้สภาพการจ้างเดิมด้อยลง ประกอบกับคำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งโจทก์ทั้งห้าของจำเลยเป็นการใช้อำนาจบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรเพื่อให้การบริหารงานบุคคลของจำเลยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การที่จำเลยย้ายโจทก์ทั้งห้าโดยโจทก์ทั้งห้ายังอยู่ในระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษเช่นเดิมและอัตราค่าจ้างไม่ได้ลดลง จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญาจ้างหรือผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง คำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งโจทก์ทั้งห้าของจำเลยจึงชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับประโยชน์ในเงินต่าง ๆ ตามตำแหน่งเดิมตามฟ้อง ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน เงินประจำตำแหน่งเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่ง เงินเดือนเพิ่ม เงินโบนัส และโจทก์ที่ 1 มีสิทธินำเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุนั้น เห็นว่า ปัญหาเรื่องค่าเช่าบ้านนั้น ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางได้ความว่า จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งเมื่อพิจารณาเอกสารดังกล่าว ข้อ 7.2 กำหนดให้พนักงานที่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านซึ่งเป็นเงินเพิ่มพิเศษในการโยกย้าย จะต้องเป็นพนักงานที่ออกไปปฏิบัติงานประจำยังสาขาต่างจังหวัดหรือท้องถิ่นที่แตกต่างจากที่บรรจุครั้งแรกและอยู่คนละจังหวัด ไม่มีเคหะสถานของตนเองหรือคู่สมรสในเขตที่จะไปประจำ และมิใช่เป็นการไปประจำ ณ สำนักงานใหญ่หรือสาขาในเขตนครหลวง และไม่ได้ขอย้ายด้วยตนเอง แต่กรณีโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จำเลยมีคำสั่งย้ายไปดำรงตำแหน่งใหม่ที่สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน ส่วนปัญหาเรื่องเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งนั้น ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางได้ความว่า มีข้อตกลงระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคารกรุงเทพว่า ให้จำเลยเปลี่ยนเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งของผู้บริหารประจำสาขาเป็นเงินค่ารับรองตามข้อตกลงระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานบังคับบัญชาธนาคารกรุงเทพ ซึ่งภายหลังตกลงให้รวมเงินประจำตำแหน่งและค่ารับรองของผู้บริหารสาขาเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือน ตามข้อตกลงร่วมระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคารกรุงเทพ ข้อ 1 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่ง และโจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธินำเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุ
ส่วนปัญหาว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิได้รับการปรับเงินเดือนและโจทก์ที่ 2 มีสิทธิได้รับโบนัสหรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนทุกปีรวมทั้งโจทก์ที่ 2 ได้รับโบนัสทุกปี ดังนั้น โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มและไม่ได้โบนัส และโจทก์ที่ 3 ไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนเพิ่ม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share