แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยในราคา 30,000 บาทได้วางมัดจำในวันทำสัญญา 25,000 บาท จำเลยได้เข้าปลูกสร้างโรงเรือนและอาศัยอยู่ในที่พิพาทตลอดมาเป็นการเข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อขาย จึงเป็นการยึดถือที่พิพาทแทนโจทก์มิใช่เป็นการยึดถือในฐานะเป็นเจ้าของ เมื่อโจทก์รังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้จำเลยไม่ได้เพราะมีวัดคัดค้านการรังวัด โจทก์จึงคืนเงินให้จำเลยไปก่อน หากวัดตรวจสอบแล้วปรากฏว่าไม่ใช่ที่ของวัดจึงจะซื้อขายกันใหม่ ดังนั้นในช่วงนี้จึงจะถือว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่พิพาทยังไม่ได้ แม้ภายหลังต่อมาจำเลยรื้อบ้านเดิม ซึ่งเป็นบ้านไม้และปลูกใหม่เป็นตึก ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถืออันเป็นการแย่งการครอบครองที่พิพาท คำขอของโจทก์ที่ว่าถ้า จำเลยไม่รื้อถอนให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รื้อถอนโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนนั้น ไม่ชอบตามบทบัญญัติมาตรา 296 ทวิ แห่ง ป.วิ.พ. ชอบที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติไปตามบทบัญญัติดังกล่าว.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆออกจากที่ดินของโจทก์ พร้อมบริวาร หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขอให้ศาลสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รื้อถอนโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายให้ชำระค่าเสียหาย 800 บาท และค่าเสียหาย 200 บาทต่อเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามโฉนดดังกล่าวจำนวน 1 งานจริงแต่ที่ดินพิพาทที่จำเลยทั้งสองครอบครองอยู่เป็นที่ดินที่อยู่นอกโฉนดของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าจำเลยทั้งสองครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากว่า 1 ปีแล้วจำเลยทั้งสองจึงได้สิทธิครอบครองในที่พิพาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะมิได้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันมีการโต้แย้งสิทธิและรบกวนการครอบครองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างโรงเรือนและขนย้านทรัพย์สินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ออกจากที่ดินของโจทก์พร้อมบริวาร หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รื้อถอนโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่าย และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย เป็นเงิน800 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 200 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างโรงเรือนออกไป
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นคงฟังได้ตามที่คู่ความรับกันว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2517 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ 1 งาน จากโจทก์ทั้งสองในราคา30,000 บาท ได้วางมัดจำในวันทำสัญญา 25,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสาร ล.1 เมื่อทำสัญญากันแล้ว จำเลยทั้งสองได้ปลูกสร้างโรงเรือนและอาศัยอยู่ในที่พิพาทตลอดมา ภายหลัง โจทก์ไม่สามารถโอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ได้ตามสัญญาและปรากฏว่าที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์ทั้งสองจึงคืนเงินมัดจำให้จำเลยที่ 2ปัญหาในชั้นนี้มีว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่าตามคำรับของคู่ความ การที่จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทแต่แรกนั้น เป็นการเข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อขาย โดยมีข้อตกลงว่าจะไปโอนที่พิพาทกันในภายหลัง จึงเป็นการยึดถือที่พิพาทแทนโจทก์มิใช่เป็นการยึดถือในฐานะเป็นเจ้าของ ถือไม่ได้ว่ามีการแบ่งแยกการครอบครอง ต่อมาเมื่อโจทก์รังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้จำเลยไม่ได้ จึงได้มีการทำบันทึกกันระหว่างโจทก์จำเลยในวันที่ 20 สิงหาคม2525 ตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งก็มีระบุเกี่ยวกับที่ดินแปลงที่จะซื้อขายกันอีก แสดงว่าก่อนหน้านั้นก็ยังเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายนั้นเอง จนกระทั่งภายหลังวันที่ 2 กันยายน2525 เมื่อรังวัดไม่ได้อีกแล้ว ก็มีการตกลงคืนเงินกันซึ่งจำเลยว่าเป็นการที่โจทก์ชำระค่าปรับ แต่โจทก์ว่าเป็นการคืนมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายเพราะมีวัดบ้านทึงคัดค้านการรังวัด โจทก์จึงคืนเงินไปก่อน หากวัดบ้านทึงตรวจสอบแล้วปรากฏว่าไม่ใช่ที่ของวัดจึงจะมาซื้อขายกันใหม่ ในข้อนี้นายพิศ ขวัญกุล พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านท้องที่พิพาทและพระครูวิชิตสังฆกิจพยานจำเลยเบิกความสอดคล้องต้องกันว่าทางวัดเคยคัดค้านการรังวัดจริง จึงน่าเชื่อว่าโจทก์คืนเงินให้จำเลยไปก่อนโดยยังมีข้อตกลงเรื่องการจะซื้อขายกันอยู่ ดังนั้นในช่วงนี้จะถือว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่พิพาทยังไม่ได้ ภายหลังนั้นจำเลยก็อ้างว่าจำเลยรื้อบ้านเดิมซึ่งเป็นบ้านไม้และปลูกใหม่เป็นตึก มีข้อต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแย่งการครอบครองที่พิพาทหรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยครอบครองที่พิพาทอยู่ในฐานะยึดถือที่พิพาทแทนโจทก์ หากจำเลยจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือก็ต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์ว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนโจทก์ต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 การที่โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยซื้อที่พิพาท จำเลยไม่ซื้อ ในที่สุดได้บอกให้จำเลยออกไปจำเลยเพิกเฉย แต่ได้รื้อบ้านไม้ซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาทแล้วปลูกเป็นบ้านตึกใหม่ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถืออันเป็นการแย่งการครอบครองที่พิพาท ดังนั้นจึงไม่อาจเริ่มนับระยะเวลาที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 โจทก์จึงยังไม่หมดสิทธิฟ้องเรียกที่พิพาทคืนฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่ตามคำขอของโจทก์ที่ว่าถ้าจำเลยไม่รื้อถอนให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รื้อถอนโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ไม่ชอบตามบทบัญญัติ มาตรา 296 ทวิแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ชอบที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติไปตามบทบัญญัติดังกล่าว
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเว้นแต่ตามคำขอที่ว่าถ้าจำเลยไม่รื้อถอนให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รื้อถอนโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายให้ยกเสีย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ”.