แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 2 รับโอนใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรและใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปจากจำเลยที่ 1 มาเป็นของตน ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนามิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ยึดใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปและใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักร ซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 มาบังคับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกโกงเจ้าหนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 4 เดือน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 กับนายประมวล นายมานพ กับโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายประมวลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 867/2550 และ 888/2550 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2550 นายกรวิชญ์ ผู้แทนโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 867/2550 ไปที่บ้านเลขที่ 32 หมู่ 5 ตำบลสามเรือน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เพื่อยึดทรัพย์ของนายประมวล ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2550 จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอทำการแปรรูปไม้ ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ตั้งโรงค้าไม้แปรรูป ต่อสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดราชบุรี เพื่อรับโอนใบอนุญาตและกิจการโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรจากจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 และได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรในวันที่ 27 ธันวาคม 2550 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2551 นายกรวิชญ์ผู้แทนโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2326/2550 ไปที่บ้านเลขที่ 32/1 หมู่ 5 ตำบลสามเรือน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เพื่อนำยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 พบนางอุดมลักษณ์ ภริยาจำเลยที่ 2 นำหนังสือรับโอนใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปและใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรมาแสดงว่าทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในโรงงานเป็นของจำเลยที่ 2 แล้ว นายกรวิชญ์และเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่สามารถยึดเครื่องจักรและทรัพย์สินในโรงงานได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ขณะที่จำเลยที่ 2 รับโอนใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรและใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ทราบหรือไม่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่า โจทก์มีนายกรวิชญ์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความถึงข้อเท็จจริงส่วนนี้ว่า ระหว่างที่พยานในฐานะผู้แทนโจทก์ไปนำยึดทรัพย์ของนายประมวลที่บ้านเลขที่ 32 หมู่ 5 พบจำเลยที่ 2 ทราบว่าพยานไปยึดทรัพย์ของนายประมวลและจำเลยที่ 2 ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่าพยานเคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัย ประกอบกับข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2550 นายกรวิชญ์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปที่บ้านของนายประมวล พบจำเลยที่ 2 แจ้งว่าเป็นบุตรของนายประมวล และยืนยันว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นของนายประมวล เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงยึดทรัพย์สินของนายประมวลไปบางส่วน ทั้งจำเลยที่ 2 เองก็เบิกความเจือสมว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 โอนใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ให้ บิดาและมารดามีหนี้สินหลายรายทั้งนอกระบบและที่ถูกฟ้องเป็นคดีความ และจำเลยที่ 1 ได้นำเครื่องจักรในโรงงานแปรรูปไม้ไปตีใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบมาว่า ในวันที่ 10 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่านายประมวลมีหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้ และได้ความตามรายงานเจ้าพนักงานบังคับคดีกับสำเนาใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปและใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรว่า บ้านเลขที่ 32/1 หมู่ 5 ที่นายกรวิชญ์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เป็นที่ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ของจำเลยที่ 1 ขณะที่บ้านเลขที่ 32 หมู่ 5 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์เป็นบ้านของนายประมวล ส่วนจำเลยที่ 2 อยู่บ้านเลขที่ 32/3 หมู่ 5 โดยนายกรวิชญ์เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า บ้านของนางอุดมลักษณ์ภริยาจำเลยที่ 2 อยู่ห่างจากบ้านของจำเลยที่ 1 เพียง 4 ถึง 5 ก้าวเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า บ้านของจำเลยที่ 2 อยู่ใกล้กับบ้านของนายประมวลและโรงงานแปรรูปไม้ของจำเลยที่ 1 มาก น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ย่อมต้องทราบถึงสถานะทางการเงินของนายประมวลและจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ขณะที่จำเลยที่ 2 รับโอนใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรและใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหลายรายรวมทั้งโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ยังรับโอนใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรและใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปจากจำเลยที่ 1 มาเป็นของตน ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ยึดใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปและใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักร ซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 มาบังคับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกโกงเจ้าหนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น