คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยทำท่าฮึดฮัดจะชักอาวุธปืนยิงผู้เสียหายซึ่งแสดงว่าผู้เสียหายกับจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน คำเบิกความของผู้เสียหายที่ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายจึงมีเหตุทำให้ระแวงสงสัยส่วนที่โจทก์อ้างส่งคำให้การชั้นสอบสวนของ ย. ที่ระบุว่าในวันเกิดเหตุ ย. ได้ยินจำเลยพูดกับเพื่อนของจำเลยว่า อย่างผู้เสียหายไม่ต้องยิงให้เสียเวลาหรอกแค่ขว้างก็ช็อกตายแล้วนั้นคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 81, 91, 288
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81, 288การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษฐานมีลูกระเบิดไว้ในครอบครองจำคุก 3 ปี และลงโทษฐานพยายามฆ่าจำคุก 7 ปีรวมโทษจำคุกจำเลย 10 ปี ของกลางริบ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ขณะที่นายโป้ แซ่ตัน ผู้เสียหายนั่งรับประทานอาหารกับภริยา บุตรสาว บุตรเขย และคนงานภายในบ้านพักได้มีคนร้ายใช้ลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบอเมริกัน เอ็ม 26 เอ 1จำนวน 1 ลูก ของกลาง ขว้างใส่หลังคาบ้านของผู้เสียหายจากบริเวณหลังบ้าน ลูกระเบิดกระดอนกลิ้งไปตกลงบนพื้นดินหน้าบ้านแต่ไม่ระเบิดเพราะชนวนเสื่อมสภาพ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ ประจักษ์พยานโจทก์ที่อ้างว่าเห็นจำเลยเป็นคนร้ายมีเพียงปากเดียวคือนายโป้ แซ่ตันผู้เสียหาย พยานเดียว เช่นนี้จะต้องเบิกความประกอบด้วยเหตุผลจึงจะมีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยได้ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พยานปากนี้โดยละเอียดแล้ว พยานเบิกความว่าเมื่อได้ยินเสียงดังจากหลังคาบ้านคล้ายคนขว้างหลังคาบ้านแล้วของที่ขว้างมานั้นตกลงทางหน้าบ้าน ผู้เสียหายจึงคว้าไฟฉายและอาวุธปืนลูกซองยาวเปิดประตูหลังบ้านออกไปและฉายไฟฉายกราด เห็นชายคนหนึ่งอยู่ในเขตรั้วบ้านห่างไปประมาณ 5-6 วา จึงฉายไฟที่ใบหน้าชายคนดังกล่าวซึ่งกำลังวิ่งไปทางรั้วแล้วเหลียวมาดูผู้เสียหายจึงจำได้ว่าเป็นจำเลย ผู้เสียหายยิงปืนขึ้นฟ้า 2 นัด แต่จำเลยไม่หยุดคงวิ่งลอดรั้วไม้ไผ่หลบหนีไป รั้วหลังบ้านห่างตัวบ้านประมาณ 10 วาประตูหลังบ้านอยู่ห่างที่ผู้เสียหายนั่งรับประทานอาหารประมาณ 2 วาอาวุธปืนแขวนอยู่ที่เสาใกล้กับที่นั่งอยู่ ส่วนไฟฉายอยู่บนโต๊ะไม่ห่างนัก ประตูหลังบ้านเป็นประตูสังกะสีใส่กลอนเหล็กจากคำเบิกความดังกล่าวเห็นว่า เมื่อคนร้ายขว้างลูกระเบิดใส่หลังคาบ้านผู้เสียหายแล้ว คนร้ายจะต้องรีบวิ่งหลบหนีทันทีเพื่อให้พ้นจากอันตรายที่อาจจะเกิดจากการระเบิดของลูกระเบิด การที่ผู้เสียหายไปหยิบอาวุธปืนและไฟฉายแม้จะอยู่ใกล้กันแล้วมาเปิดประตูหลังบ้านออกไป ย่อมต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นที่ผู้เสียหายว่าได้ฉายไฟเห็นคนร้ายว่าเป็นจำเลยนั้นจึงยังมีเหตุน่าสงสัยอยู่ว่าขณะผู้เสียหายเปิดประตูออกมานั้นคนร้ายจะยังอยู่ในบริเวณรั้วบ้านของผู้เสียหายหรือไม่ ทั้งตามแผนที่สังเขปแสดงบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งร้อยตำรวจโทกิตติ มหารักษิต พนักงานสอบสวนจัดทำไว้ ปรากฏว่าบริเวณที่ผู้เสียหายอ้างว่าเห็นจำเลยกำลังวิ่งนั้น เป็นบริเวณไร่มะเขือ ซึ่งหากผู้เสียหายเห็นคนร้ายตามที่เบิกความมา ก็เป็นการเห็นแวบเดียวและต้นมะเขือก็อาจจะบังตัวคนร้ายบ้างในขณะวิ่งเพราะได้ความจากผู้เสียหายว่าเห็นจำเลยสวมเสื้อยืดสีขาวแต่ไม่เห็นส่วนกางเกง ส่วนที่ผู้เสียหายว่าเห็นหน้าจำเลยเพราะจำเลยเหลียวมาดูนั้น ก็เป็นการผิดปกติวิสัยของคนร้ายที่กระทำผิดย่อมไม่ประสงค์จะให้ผู้คนเห็นหน้าและจดจำตนได้ ประกอบกับได้ความจากผู้เสียหายว่า จำเลยเคยมากินอยู่ที่บ้านผู้เสียหายในฐานะคนรู้จักกัน แต่จำเลยพูดลามปามถึงบุตรสาวของผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงห้ามจำเลยไม่ให้มาที่บ้านอีก ก่อนเกิดเหตุคดีนี้เกือบ 1 ปี จำเลยเคยทำท่าฮึดฮัดจะชักอาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ซึ่งแสดงว่าผู้เสียหายกับจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกันคำเบิกความของผู้เสียหายที่ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายจึงมีเหตุทำให้ระแวงสงสัย ส่วนที่โจทก์อ้างส่งคำให้การชั้นสอบสวนของนายย่อย ฤทธิเดช ที่ระบุว่า ตอนกลางวันในวันเกิดเหตุ นายย่อยได้ยินจำเลยพูดกับเพื่อนของจำเลยขณะช่วยกันเลื่อยไม้ว่าอย่างตาโป้ไม่ต้องยิงให้เสียเวลาหรอกแค่ขว้างก็ช็อกตายแล้วนั้น เห็นว่าคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ริบของกลาง

Share