คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3045/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล บัญญัติให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ในวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ ให้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ต่อไป เมื่องานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอนของผู้เสียหายตามฟ้องมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 และเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 โดยครบกำหนดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ 30 ปี นับแต่วันโฆษณาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในวันที่ 1 ธันวาคม 2542 งานดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในวันที่ 21 มีนาคม 2538 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองไว้ในหมวด 1 โดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วน เป็นหมวดหมู่ในลักษณะเรียงลำดับต่อเนื่องกันไป การได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ของงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 จึงหมายความรวมถึงการได้รับความคุ้มครองภายใต้กำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 ถึงมาตรา 26 ด้วย เมื่องานสร้างสรรค์ตามฟ้องเป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลและมีการโฆษณางานดังกล่าวแล้ว จึงมีอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ 50 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรกตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 วรรคท้าย
การวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง มีความหมายเพียงว่า งานนั้นยังคงได้รับความคุ้มครองต่อไป แต่มิได้มีผลเป็นการขยายอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้แก่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้น เป็นการตีความยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาใช้บังคับแก่งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 เพียงส่วนเดียว คือ อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์เท่านั้นที่ยังคงใช้บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 โดยไม่ปรากฏว่ามีหลักเกณฑ์และเหตุผลพิเศษใดในการแบ่งแยกการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นสองพระราชบัญญัติเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับปรัชญาการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มุ่งส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยมีค่าตอบแทนเป็นแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งาน ทั้งยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการบัญญัติ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ที่เล็งเห็นว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 นั้นล้าสมัยและไม่ให้ความคุ้มครองได้กว้างขวางเพียงพอ ส่วนบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับไม่สอดคล้องกับความใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 50 วรรคสอง และพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคสอง ที่บัญญัติโดยใช้ถ้อยคำทำนองเดียวกันกับความในวรรคหนึ่ง อันเป็นเหตุให้งานซึ่งไม่เคยได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติเดิมทั้งสองฉบับได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ภายใต้กำหนดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ย่อมแสดงให้เห็นว่า การตีความคำว่า “ให้ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้” ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ต้องเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือนำหลักเกณฑ์เรื่องอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามมาตรา 19 ถึงมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาใช้บังคับด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการตีความไปตามบริบทของกฎหมายทั้งฉบับแล้ว ยังเป็นการตีความกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 31, 61, 69, 70, 75, 76 และ 78 ให้สินค้าเสื้อยืดเด็ก จำนวน 2 ตัว ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งให้จ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังยุติว่า บริษัทฟูจิโกะ – เอฟ – ฟูจิโอะ โปร จำกัด ผู้เสียหาย เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่น และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอน งานดังกล่าวมีการโฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมอันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย จึงเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 โดยมีอายุการคุ้มครองตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ 30 ปี นับแต่วันโฆษณา ซึ่งครบกำหนด 30 ปี ในวันที่ 1 ธันวาคม 2542 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มีผลใช้บังคับวันที่ 19 ธันวาคม 2521 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มีผลใช้บังคับวันที่ 21 มีนาคม 2538
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ งานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอนของผู้เสียหายตามฟ้องยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ.2537 มาตรา 19 วรรคท้ายหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 แต่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล บัญญัติว่า งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 หรือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า งานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอนของผู้เสียหายตามฟ้องเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 และครบกำหนดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ 30 ปี นับแต่วันโฆษณาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในวันที่ 1 ธันวาคม 2542 งานดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ จึงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ อยู่แล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 ย่อมได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ไว้ในหมวด 1 โดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วน กล่าวคือ งานอันมีลิขสิทธิ์ การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์ อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ และข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นหมวดหมู่ในลักษณะเรียงลำดับต่อเนื่องกันไป ดังนั้นการได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 จึงหมายความรวมถึงการได้รับการคุ้มครองภายใต้กำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 ถึงมาตรา 26 ด้วย เมื่องานสร้างสรรค์ตามฟ้องเป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลและมีการโฆษณางานดังกล่าวแล้ว จึงมีอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ 50 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 วรรคท้าย ส่วนการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 ให้ได้รับความคุ้มครองต่อไปตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น มีความหมายเพียงว่างานนั้นยังคงได้รับความคุ้มครองต่อไป แต่มิได้มีผลเป็นการขยายอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้แก่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้น เป็นการตีความยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาใช้บังคับแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 เพียงส่วนเดียว คือ อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยให้ใช้อายุคุ้มครอง 30 ปี นับแต่วันโฆษณา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 โดยไม่ปรากฏในคำวินิจฉัยว่ามีหลักเกณฑ์และเหตุผลพิเศษใดในการแบ่งแยกการให้ความคุ้มครองเป็นสองพระราชบัญญัติเช่นนั้น นอกจากนี้ การตีความดังกล่าวยังมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับปรัชญาการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มุ่งส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยมีค่าตอบแทนเป็นแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งาน ทั้งการตีความจำกัดสิทธิดังกล่าวไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการบัญญัติพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ที่ให้เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ว่า เหตุที่บัญญัติพระราชบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากบทบัญญัติต่าง ๆ ในพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ล้าสมัยและไม่ให้ความคุ้มครองได้กว้างขวางเพียงพอ และได้ความตามเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ว่า เหตุที่บัญญัติพระราชบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากบทบัญญัติในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้การตีความพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับความในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 50 วรรคสอง และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 78 วรรคสอง ที่บัญญัติโดยใช้ถ้อยคำทำนองเดียวกันกับความในวรรคหนึ่งว่า งานที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ใช้บังคับ และไม่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ให้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น งานแพร่เสียงแพร่ภาพ งานรวบรวมวรรณกรรมโดยคัดเลือกและจัดลำดับใหม่ และงานศิลปประยุกต์ ซึ่งมิใช่ลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 แต่เป็นลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 งานดังกล่าวจึงได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ภายใต้อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ 50 ปี และ 25 ปี ตามมาตรา 19 มาตรา 21 และมาตรา 22 ตามลำดับ ย่อมแสดงให้เห็นว่า การตีความคำว่า “ให้ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้” ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ต้องเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือนำหลักเกณฑ์เรื่องอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามมาตรา 19 ถึงมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการตีความไปตามบริบทของกฎหมายทั้งฉบับแล้ว ยังเป็นการตีความกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วย โดยอนุสัญญาดังกล่าวประสงค์ให้ประเทศภาคีสมาชิกกำหนดอายุการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมตั้งแต่ 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย หรือนับแต่วันได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก แล้วแต่กรณี ฉะนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า งานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอนของผู้เสียหายตามฟ้องมีอายุการคุ้มครองเพียง 30 ปี ขณะจำเลยกระทำความผิดคดีนี้พ้นกำหนดเวลา 30 ปี นับแต่ผู้เสียหายโฆษณาภาพการ์ตูนดังกล่าวเป็นครั้งแรก จึงไม่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ต่อไป แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งปัญหาข้อนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิจารณาคดีมาจนเสร็จสิ้นกระบวนความแล้ว คงเหลือแต่การพิพากษาคดีในส่วนนี้ อีกทั้งข้อหาตามฟ้องโจทก์นั้นไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปเสียเลย โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยเสียก่อน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2549 ซึ่งยังอยู่ในกำหนดเวลาอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ 50 ปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2512 ซึ่งเป็นวันที่ผู้เสียหายได้โฆษณางานเป็นครั้งแรก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอนของผู้เสียหายตามฟ้อง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ผู้เสียหายโดยการนำเสื้อเด็กซึ่งมีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกขาย เสนอขายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อแสวงหากำไรทางการค้าเพียง 2 ตัว พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนัก ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายเพียงใด ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป โดยให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง ให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้ของกลางที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ยกคำขอที่ให้จ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์.

Share