คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3045/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ มิได้อ้างเหตุของตัวผู้ร้องเอง แต่อ้างเหตุของทนายความที่ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันเพราะเพิ่งได้รับมอบหมายจากผู้ร้องและจะต้องตามประเด็นไปว่าความที่ศาลอื่น มิใช่เป็นการขอขยายระยะเวลาโดยอ้างเหตุว่ามีพฤติการณ์พิเศษตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่เป็นการขออนุญาตให้ศาลชั้นต้นใช้อำนาจทั่วไปตามกฎหมาย จึงเป็นดุลพินิจที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทอ้างว่าผู้ร้องได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2541 ให้ยกคำร้องขอ ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2541 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่าผู้ร้องเพิ่งตัดสินใจมอบหมายให้ทนายความทำคำฟ้องอุทธรณ์ให้แก่ผู้ร้อง ประกอบกับทนายความจะต้องตามประเด็นไปว่าความที่ศาลอาญาธนบุรี จึงไม่สามารถทำคำฟ้องอุทธรณ์ได้ทัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลตัดสินวันที่ 11 กันยายน 2541 คู่ความมีสิทธิขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายในวันที่ 11 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนสิ้นวันอุทธรณ์เมื่อผู้ร้องมาขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์วันนี้ จึงพ้นกำหนดที่จะขอได้ ประกอบกับตามคำร้องไม่ปรากฏพฤติการณ์พิเศษ จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า สมควรอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่ผู้ร้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามสำนวนว่าทนายผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ โดยอ้างว่าผู้ร้องเพิ่งตัดสินใจมอบให้ทนายความทำคำฟ้องอุทธรณ์ต่อไปในวันนี้แต่ทนายไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันในวันนี้เพราะจะต้องตามประเด็นไปว่าความที่ศาลอาญาธนบุรี ขอขยายเวลาอุทธรณ์ไปอีก 10 วัน เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ร้องและเพื่อความเป็นธรรมและประโยชน์แห่งคดี เห็นว่า คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ มิได้อ้างเหตุของตัวผู้ร้องเอง แต่อ้างเหตุของทนายความที่ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันเพราะทนายความเพิ่งได้รับมอบหมายจากผู้ร้องและจะต้องตามประเด็นไปว่าความที่ศาลอื่นลักษณะคำร้องเห็นได้ชัดแจ้งว่ามิใช่เป็นการขอขยายระยะเวลาโดยอ้างเหตุว่า มีพฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่เป็นการขออนุญาตให้ศาลชั้นต้นใช้อำนาจทั่วไปตามกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลจะใช้อำนาจทั่วไปดังกล่าว จึงเป็นดุลพินิจที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป กล่าวเฉพาะคดีนี้แล้ว เห็นว่าผู้ร้องเพิ่งขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งแรก และขอเวลาเพียง 10 วัน ศาลฎีกาเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม สมควรอนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้ตามคำร้อง ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”

พิพากษากลับว่า อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่ผู้ร้อง 10 วัน นับตั้งแต่ฟังคำพิพากษานี้

Share