คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด ดังนั้นการนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 5 เรื่องระยะเวลาอันเป็นบทบัญญัติทั่วไป โดยมาตรา 193/3 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี” เมื่อโจทก์ได้รับทราบคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานในวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2554 โจทก์ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว โจทก์จะต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยต้องเริ่มนับระยะเวลาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2554 เป็นต้นไป ตามนัยบทบัญญัติมาตรา 193/3 วรรคสอง ดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 จึงเป็นการที่โจทก์ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 12/2554 ลงวันที่ 1 เมษายน 2554
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานในวันที่ 9 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นวันหยุดทำการ แล้ววินิจฉัยว่า การนับระยะเวลาจึงต้องนับวันที่เริ่มทำงานใหม่วันที่ 11 เมษายน 2554 เป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในประการแรกเสียก่อนว่า โจทก์นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เป็นกฎหมายที่มีความมุ่งหมายคุ้มครองการใช้แรงงานอย่างเป็นธรรมและมีบทบัญญัติในการคุ้มครองแรงงานไว้โดยเฉพาะก็ตาม แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวก็มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด ดังนั้นการนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 5 เรื่องระยะเวลาอันเป็นบทบัญญัติทั่วไป โดยมาตรา 193/3 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการที่ 12/2554 และโจทก์ได้รับทราบคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานในวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2554 ถ้าโจทก์ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว โจทก์จะต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยต้องเริ่มนับระยะเวลาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2554 เป็นต้นไป ตามนัยบทบัญญัติมาตรา 193/3 วรรคสอง ดังกล่าว และจะครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงานภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 มิใช่วันหยุดราชการ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 จึงเป็นการที่โจทก์ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า วันที่ 9 เมษายน 2554 เป็นวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการ ดังนั้นให้นับวันที่เริ่มทำงานใหม่ คือวันจันทร์ที่ 11 เมษายน 2554 เป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 กรณีจึงเป็นการยื่นคำฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อได้ความดังนี้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share