คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เหตุเกิดเพราะการที่จำเลยที่1พยักหน้าและร้องว่าเอามันแล้วจำเลยที่2และที่3เข้าร่วมทำร้ายร่างกายผู้เสียหายถือได้ว่าจำเลยที่1ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการยุยงส่งเสริมจึงเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา84มิใช่เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา83ดังที่โจทก์ฟ้องจึงเป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญอย่างมากย่อมลงโทษจำเลยที่1ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคสองแต่การร้องบอกของจำเลยที่1ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา86

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ของแข็งเป็นอาวุธตีประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 297(8)
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 297(8) จำคุกคนละ 1 ปี
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 287(8) จำคุก 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2และที่ 3 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ เหตุเกิดเพราะการที่จำเลยที่ 1 พยักหน้าและร้องว่าเอามัน แล้วจำเลยที่ 2และที่ 3 เข้าร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการยุยงส่งเสริมจึงเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 มิใช่เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา 83 ดังที่โจทก์ฟ้องซึ่งเป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญอย่างมาก ย่อมลงโทษจำเลยที่ 1ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง แต่การร้องบอกของจำเลยที่ 1ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share