คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3043/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการคุ้มครองนายจ้างและลูกจ้างมิให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน แม้ตามมาตรา 123 ซึ่งมุ่งหมายมิให้นายจ้างกลั่นแกล้งลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจะได้กำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ แต่ก็มิได้หมายความว่า เมื่อนายจ้างมีเหตุจำเป็นนอกเหนือจากเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวแล้วนายจ้างจะเลิกจ้างไม่ได้ จึงต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญ ฉะนั้นแม้การเลิกจ้างจะเป็นเหตุให้ผู้ถูกเลิกจ้างเดือดร้อน แต่ถ้าเป็นความจำเป็นทางฝ่ายนายจ้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้กิจการของนายจ้างดำรงอยู่ต่อไป ก็ย่อมเป็นสาเหตุที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้ จำเลยร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องและถูกโจทก์เลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ทั้งก่อนที่โจทก์จะยุบตำแหน่งจำเลยร่วม โจทก์ก็ยังประกอบกิจการได้กำไรอยู่การยุบเลิกตำแหน่งดังกล่าวเป็นเพียงนโยบายของสำนักงานใหญ่ของโจทก์เท่านั้น ทั้งตำแหน่งงานใหม่ที่โจทก์เสนอให้จำเลยร่วมคือรองนายสนามบิน ก็ต้องทำงานเป็นกะบางครั้งต้องทำงานในเวลากลางคืนและทำงานช่วงวันเสาร์อาทิตย์จำเลยร่วมมีครอบครัวจึงไม่สะดวก ส่วนตำแหน่งฝ่ายปฏิบัติการประจำสนามบินมีผลประโยชน์ต่ำกว่าตำแหน่งเดิมที่จำเลยร่วมทำงานอยู่ จำเลยร่วมจึงปฏิเสธ โจทก์ไม่สามารถหาตำแหน่งงานใหม่ที่เหมาะสมให้แก่จำเลยร่วมได้ การที่จำเลยร่วมปฏิเสธตำแหน่งงานใหม่ที่โจทก์เสนอจึงมิใช่ความผิดของจำเลยร่วม กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเหตุที่จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการเลิกจ้างจำเลยร่วม ทั้งการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมเพราะเหตุยุบตำแหน่งของจำเลยร่วมก็ไม่อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมในกรณีนี้จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 123

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 13 เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จำเลยทั้งสิบสามได้มีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 10/2539วินิจฉัยว่า โจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรมด้วยการเลิกจ้างนายชิษณุ บุรพัฒน์ลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายจำนวน 957,060 บาท โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้อง เนื่องจากโจทก์จำเป็นต้องเลิกจ้างนายชิษณุเพราะโจทก์มีความจำเป็นต้องยกเลิกตำแหน่งผู้ประสานงานฝ่ายบริการโภชนาการบนเครื่องบินที่นายชิษณุดำรงตำแหน่งอยู่ โจทก์เสนอตำแหน่งใหม่ให้แล้ว นายชิษณุไม่ยอมรับ โจทก์จึงต้องเลิกจ้างกรณีดังกล่าวไม่ใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 จำนวนเงินค่าเสียหายที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กำหนดสูงเกินไป ทั้งกำหนดขึ้นโดยขาดหลักเกณฑ์และเหตุผลในการเลิกจ้างโจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยพิเศษกรณีเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 12 เดือนจำนวน 765,648 บาท ให้แก่นายชิษณุไปแล้ว หากถือว่าโจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรมเงินจำนวนดังกล่าวก็เป็นค่าเสียหายที่สมควรแก่กรณีแล้ว โจทก์ไม่ต้องจ่ายเพิ่มอีกขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 10/2539 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2539ระหว่าง นายชิษณุ บุรพัฒน์ผู้กล่าวหา กับบริษัทเค แอล เอ็ม รอยัลดัทช์ แอร์ไลน์จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาหากศาลเห็นว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ขอให้เปลี่ยนคำสั่งดังกล่าวโดยให้ถือเอาเงินที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่นายชิษณุเมื่อเลิกจ้างเป็นค่าเสียหายที่พอสมควรแล้ว ไม่ต้องให้โจทก์จ่ายเงินเพิ่มอีกแต่อย่างใด
จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 13 ให้การว่า คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 10/2539 ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา นายชิษณุ บุรพัฒน์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าที่โจทก์อุทธรณ์ การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้นเห็นว่า บทบัญญัติเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการคุ้มครองนายจ้างและลูกจ้างมิให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน แม้ตามมาตรา 123ซึ่งมุ่งหมายมิให้นายจ้างกลั่นแกล้งลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจะได้กำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ 5 ประการด้วยกันแต่ก็มิได้หมายความว่า เมื่อนายจ้างมีเหตุจำเป็นนอกเหนือจากเหตุแห่งการเลิกจ้าง 5 ประการดังกล่าวแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างไม่ได้ จึงต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญ ฉะนั้นแม้การเลิกจ้างจะเป็นเหตุให้ผู้ถูกเลิกจ้างเดือดร้อน แต่ถ้าเป็นความจำเป็นทางฝ่ายนายจ้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้กิจการของนายจ้างดำรงอยู่ต่อไป ก็ย่อมเป็นสาเหตุที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้
คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง และถูกโจทก์เลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสหภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 11 เมษายน2538 มีผลใช้บังคับ ทั้งก่อนที่โจทก์จะยุบตำแหน่งจำเลยร่วมโจทก์ก็ยังประกอบกิจการได้กำไรอยู่ การยุบเลิกตำแหน่งดังกล่าวเป็นเพียงนโยบายของสำนักงานใหญ่ของโจทก์เท่านั้น ทั้งตำแหน่งงานใหม่ที่โจทก์เสนอให้จำเลยร่วมคือรองนายสนามบิน ก็ต้องทำงานเป็นกะ บางครั้งต้องทำงานในเวลากลางคืนและทำงานช่วงวันเสาร์วันอาทิตย์ จำเลยร่วมมีครอบครัวจึงไม่สะดวกส่วนตำแหน่งฝ่ายปฏิบัติการประจำสนามบินมีผลประโยชน์ต่ำกว่าตำแหน่งเดิมที่จำเลยร่วมทำงานอยู่ จำเลยร่วมจึงปฏิเสธ โจทก์ไม่สามารถหาตำแหน่งงานใหม่ที่เหมาะสมให้แก่จำเลยร่วมได้ การที่จำเลยร่วมปฏิเสธตำแหน่งงานใหม่ที่โจทก์เสนอจึงมิใช่ความผิดของจำเลยร่วมกรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเหตุที่จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการเลิกจ้างจำเลยร่วม ทั้งการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมเพราะเหตุยุบตำแหน่งของจำเลยร่วม ก็ไม่อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518แต่อย่างใด เช่นนี้ การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม มาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share