แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด จำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ ช. ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนโจทก์ การสอบสวนได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนจนถึงเจ้ากรมสารบรรณทหารบและผ่านมายังกองพระธรรมนูญ ในวันที่ 18 มีนาคม 2531 เพื่อเสนอให้ ช. อนุมัติดำเนินคดีแก่จำเลย และ ช. อนุมัติในวันที่ 26 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่คณะกรรมการสอบสวนเสนอรายงานผลการสอบสวนถึง 7 ปี การใช้เวลาในการเดินหนังสือเนิ่นนานไปจนผิดปกติเช่นนี้ โจทก์จึงควรมีพยานหลักฐานมาแสดงให้ปรากฏว่ามีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรบ้างและไปติดขัดอยู่ที่ใด ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์เพิ่งจะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 21 มีนาคม 2538 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 27 เมษายน 2538 จึงเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 708,563.36 บาท จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 47,659.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงกันได้และเสนอสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลขอให้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นรอไว้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความพร้อมกับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 426,821.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2538 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 506,150.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดาอายุความ โจทก์มีพันเอกเจด็จ สุคนธรัตน์ เป็นพยานเบิกความว่า พยานได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการสอบสวนกรณีนำมันสูญหายไปจากบัญชีของจังหวัดทหารบกเชียงรายระหว่างปี 2523 ถึงปี 2528 ผลการสอบสวนสรุปได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดในน้ำมันที่ขาดหาย และได้ส่งรายงานผลการสอบสวนให้แก่ผู้บัญชาการทหารบกในวันที่ 18 มีนาคม 2531 โดยผ่านสารบรรณทหารบก และโจทก์มีพลเอกเชษฐา ฐานะจาโร เบิกความว่า ในขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ พยานเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนกองทัพบก การสอบสวนข้อเท็จจริงได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนสุดท้ายถึงเจ้ากรมสารบรรณทหารและผ่านมายังกองพระธรรมนูญเพื่อเสนอให้พยานอนุมัติดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง เมื่อพยานอนุมัติแล้วก็เท่ากับผู้บัญชาการทหารบกได้รับทราบและอนุมัติเช่นกัน พยานอนุมัติในวันที่ 21 มีนาคม 2538 จึงถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว พิจารณาแล้วแม้รายงานผลการสอบสวนดังกล่าวจะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนซึ่งจะต้องใช้เวลาอยู่บ้างแต่ก็ไม่น่าจะนานถึง 7 ปี การใช้เวลาในการเดินหนังสือเนิ่นนานไปจนผิดปกติเช่นนี้ โจทก์จึงควรมีพยานหลักฐานมาแสดงให้ปรากฏว่ามีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรบ้างและไปติดขัดอยู่ที่ใด ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์เพิ่งจะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 21 มีนาคม 2538 ดังที่พลเอกเชษฐาเบิกความ แต่น่าเชื่อว่าโจทก์รู้ถึงการละมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ 18 มีนาคม 2531 ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการสอบสวนเสนอรายงานผลการสอบสวนต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2538 จึงเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1