คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3285/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์และนำออกให้บริการแก่สาธารณชนและบุคคลทั่วไปนั้น มิใช่การกระทำให้ปรากฏซึ่งสิ่งที่เป็นงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือคำสั่งหรือชุดคำสั่งที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อสาธารณชนโดยการแสดง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดตามความหมายของคำว่า “เผยแพร่ต่อสาธารณชน” ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ให้บริการแก่สาธารณชนและบุคคลทั่วไปเพื่อค้าหากำไร เป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ให้บริการแก่สาธารณชนและบุคคลทั่วไปจึงมิใช่การเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานวรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้าอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ตามฟ้อง ดังนี้ แม้โจทก์จะมีพยานหลักฐานมานำสืบถึงข้อเท็จจริงที่ได้ความตามฟ้องของโจทก์ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 5, 6, 15, 31, 70 วรรคสอง, 75 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และ 83 จ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และขอให้ริบกล่องหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ (CPU) จำนวน 3 เครื่องของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดตามฟ้อง ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 100,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 ไว้ 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ให้ค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษากึ่งหนึ่งตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ริบของกลาง สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า การกระทำทั้งหลายที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ที่โจทก์ขอให้ลงโทษหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท เค เจ ซี กัญจนาชัย จำกัด ผู้เสียหาย เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คือ โปรแกรมอินเตอร์เน็ตคาเฟ่มาสเตอร์คอนโทรล จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ดูแลร้านซีเอสอินเตอร์เน็ต ตั้งอยู่ที่สถานที่เกิดเหตุ ดำเนินธุรกิจในการให้บริการด้านอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการ และจำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัว กับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของร้านซีเอสอินเตอร์เน็ต ร่วมกันกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวของผู้เสียหายโดยนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งจำเลยทั้งสี่รู้อยู่แล้วว่ามีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ให้บริการแก่สาธารณชนและบุคคลทั่วไปเพื่อการค้าหากำไร โดยจำเลยทั้งสี่มิได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย เห็นได้ว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ให้บริการแก่สาธารณชนและบุคคลทั่วไปเท่านั้นซึ่งการกระทำดังกล่าวมิใช่การกระทำให้ปรากฏซึ่งสิ่งที่เป็นงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือคำสั่งหรือชุดคำสั่งที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อสาธารณชนโดยการแสดงการจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดตามความหมายของคำว่า “เผยแพร่ต่อสาธารณชน” ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 การนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ให้บริการแก่สาธารณชนและบุคคลทั่วไปตามฟ้อง จึงมิใช่การเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานวรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้าอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ดังนี้ แม้โจทก์จะมีพยานหลักฐานมานำสืบถึงข้อเท็จจริงที่ได้ความตามฟ้องของโจทก์ดังกล่าว ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และริบกล่องหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ (CPU) จำนวน 3 เครื่อง ของกลางตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้น เมื่อได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามที่โจทก์ฟ้องมานั้นไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ดังนี้ จึงไม่มีค่าปรับที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องชำระตามคำพิพากษาและกล่องหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ (CPU) จำนวน 3 เครื่องของกลางย่อมไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 จึงไม่อาจริบตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียด้วย กับให้ยกคำขอให้จ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และคำขอให้ริบหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ (CPU) จำนวน 3 เครื่อง ของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share