คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3040/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินฟ้องขับไล่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างตึกแถวและเรียกค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์คดีนี้ผิดสัญญาไม่ยอมส่งมอบตึกแถวแก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาเลิกกัน คู่ความต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยโจทก์ต้องคืนที่ดินพร้อมตึกแถวซึ่งถือว่าเป็นส่วนควบตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินและตึกแถวต่อไป ส่วนค่าเสียหายนั้น เนื่องจากได้ตกลงเลิกสัญญากันแล้วโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ส่งมอบตึกแถว จำเลยทั้งสองจึงเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ไม่ได้ พิพากษาให้ขับไล่โจทก์คดีนี้ออกจากที่ดินและตึกแถว ดังนั้น ผลของคำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์คดีนี้ โจทก์คดีนี้จึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินและตึกแถวนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนคือวันที่ 12 ตุลาคม 2537 ให้โจทก์คดีนี้ฟัง การที่โจทก์คดีนี้คงอยู่ต่อมาจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2538 จึงเป็นละเมิด ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและตึกแถว จึงเป็นการฟ้องแย้งเพื่อให้บังคับตามสิทธิที่เกิดจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
โจทก์ก่อสร้างตึกแถวตามสัญญา ต่อมาจำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาก่อสร้างตึกแถวและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวเลิกกันเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2528 ดังนั้น โจทก์จึงควรได้ค่าก่อสร้างตึกแถวเพียงเท่าที่ก่อสร้างจนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2528 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากตกลงกัน 6 เดือน หลังจากนั้นโจทก์ยังก่อสร้างตึกแถวอีก 3 เดือน จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาทจำนวน 3 ห้องให้แก่โจทก์เนื่องจากเป็นการงานอันได้กระทำให้ตาม ป.พ.พ. 391 วรรคสาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ยังคงอยู่ในที่ดินและตึกพิพาทต่อมา ศาลย่อมมีอำนาจนำค่าเสียหายส่วนนี้มาหักกลบลบหนี้กับจำนวนค่าก่อสร้างตึกแถวจำนวน 3 ห้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าปลูกสร้างตึกแถวทั้งสามห้องจำนวน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 1,000,000 บาท แก่จำเลยทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายอีกเดือนละ 14,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์และบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและตึกแถวพิพาททั้งสามห้องและส่งมอบการครอบครองคืนแก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าการงานที่โจทก์ทำไปให้แก่โจทก์จำนวน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน ดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์ 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันและตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 439/2531 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองพิพาทกันในมูลคดีเกี่ยวเนื่องกับคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดคนละแปลงเนื้อที่รวมประมาณ 200 ตารางวา จำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์ปลูกสร้างตึกแถวลงบนที่ดินทั้งสองแปลง เมื่อปลูกสร้างเสร็จโจทก์จะยกตึกแถวบนที่ดินจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 1 จะยกที่ดินพร้อมตึกแถวบนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนตามสัญญาการสร้างบ้านเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาระหว่างปลูกสร้างตึกแถวไม่เสร็จ โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญาการสร้างบ้านและทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ แต่ยังไม่ได้ตกลงราคากัน และจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ปลูกสร้างตึกแถวต่อไปตามสำเนาบันทึกข้อตกลงการซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ในที่สุดไม่สามารถตกลงราคาที่ดินกันได้ และตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โจทก์ก่อสร้างตึกแถวต่อจนแล้วเสร็จและเข้าอยู่ใช้ประโยชน์ จำเลยทั้งสองฟ้องขับไล่โจทก์ ศาลฎีกาพิพากษาให้ขับไล่โจทก์ โจทก์และบริวารออกจากตึกแถวพิพาทเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2538 ตึกแถวมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกว่า โจทก์ฟ้องเกิน 10 ปี นับแต่วันเจรจาตกลงกันให้ปลูกสร้างตึกแถวคือเมื่อวันที่ 10 และ 12 มกราคม 2528 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีหนังสือลงวันที่ 10 มิถุนายน 2528 ถึงโจทก์ ขอบอกเลิกการสร้างบ้านและกำหนดให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าว ปรากฏตามหนังสือและใบตอบรับเอกสารหมาย ล.6 และ ล.7 โจทก์ได้รับหนังสือวันที่ 13 มิถุนายน 2528 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 13 กรกฎาคม 2528 ดังนั้น สัญญาการสร้างบ้านกับสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจึงเลิกกันในวันที่ 13 กรกฎาคม 2528 โจทก์และจำเลยทั้งสองจึงกลับสู่ฐานะเดิม โดยจำเลยทั้งสองใช้ค่าส่วนที่ปลูกสร้างมาแล้วแก่โจทก์ โจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 13 มกราคม 2538 ภายในกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนหรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนจำเลยทั้งสองฟ้องขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินของจำเลยทั้งสอง เนื่องจากสัญญาก่อสร้างตึกแถวในที่ดินของจำเลยทั้งสองกับสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวเลิกกันแล้ว แต่โจทก์ก่อสร้างตึกแถวต่อจนเสร็จแล้วเข้าอยู่อาศัยโดยละเมิดต่อจำเลยทั้งสอง ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ใช้ค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาททั้งสามห้อง เนื่องจากเป็นการงานอันได้กระทำให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม เพราะสัญญาก่อสร้างตึกแถวและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเลิกกันแล้ว โจทก์และจำเลยทั้งสองต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ทั้งโจทก์ไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าก่อสร้างในคดีก่อน จึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยในคดีก่อนดังที่คำพิพากษาศาลฎีกาคดีก่อนวินิจฉัยไว้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็อาศัยข้อวินิจฉัยจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนนั่นเอง ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการที่สามว่า ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนหรือไม่ เห็นว่า ในคดีก่อนจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินฟ้องขับไล่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างตึกแถวและเรียกค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์คดีนี้ผิดสัญญาไม่ยอมส่งมอบตึกแถวแก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาเลิกกันคู่ความต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยโจทก์ต้องคืนที่ดินพร้อมตึกแถวซึ่งถือว่าเป็นส่วนควบตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินและตึกแถวต่อไป ส่วนค่าเสียหายนั้นเนื่องจากได้ตกลงเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ส่งมอบตึกแถว จำเลยทั้งสองจึงเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ไม่ได้ พิพากษาให้ขับไล่โจทก์คดีนี้ออกจากที่ดินและตึกแถว ดังนั้น ผลของคำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์คดีนี้ โจทก์คดีนี้จึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินและตึกแถวนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน คือวันที่ 12 ตุลาคม 2537 ให้โจทก์คดีนี้ฟัง การที่โจทก์คดีนี้คงอยู่ต่อมาจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2538 จึงเป็นละเมิด ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและตึกแถว จึงเป็นการฟ้องแย้งเพื่อให้บังคับตามสิทธิที่เกิดจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สี่ว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาทจำนวน 3 ห้อง ให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด โดยเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกับฎีกาของโจทก์ที่ว่า ศาลมีอำนาจนำค่าเสียหายมาหักกลบลบหนี้กับจำนวนค่าก่อสร้างตึกแถวได้หรือไม่ เห็นว่า เดิมโจทก์ก่อสร้างตึกแถวตามสัญญา ต่อมาจำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาก่อสร้างตึกแถวและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวเลิกกันเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2528 ตามที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ดังนั้น โจทก์จึงควรได้ค่าก่อสร้างตึกแถวเพียงเท่าที่ก่อสร้างถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2528 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากตกลงกัน 6 เดือน หลังจากนั้นโจทก์ยังก่อสร้างต่ออีก 3 เดือน จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาทจำนวน 3 ห้อง ให้แก่โจทก์เนื่องจากเป็นการงานอันได้กระทำให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ยังคงอยู่ในที่ดินและตึกพิพาทต่อมาดังได้วินิจฉัยในประเด็นที่สามแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจที่จะนำค่าเสียหายส่วนนี้มาหักกลบลบหนี้กับจำนวนค่าก่อสร้างตึกแถวจำนวน 3 ห้อง ได้ และเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาทดังกล่าวเป็นเงิน 100,000 บาท ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองควรรับผิดเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดีในศาลชั้นต้นหรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสองได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้วินิจฉัย จึงเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยพิพากษาและคำสั่งตามมาตรา 243 และศาลฎีกาเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยใหม่ และเพื่อความสะดวกรวดเร็วสมควรที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยไปทีเดียว โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายมาจำนวน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่ชนะคดีเพียง 450,000 บาท เพื่อความเป็นธรรมและเหมาะสม ควรให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดี มิใช่ตามจำนวนที่โจทก์เรียกร้อง ทั้งเป็นจำนวนที่จำเลยทั้งสองผู้แพ้คดีใช้เป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ แต่เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share