แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 มีความหมายว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวง ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงใดหรือไม่ พยานหลักฐานใดขัดต่อเหตุผลไม่น่ารับฟัง และในกรณีที่ศาลจะพิพากษาลงโทษบุคคลใด พยานหลักฐานในคดีนั้นต้องมั่นคงแน่นหนา และมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง หากพยานหลักฐานในสำนวนมีข้อพิรุธน่าระแวงสงสัยไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าหากพยานหลักฐานของโจทก์มีข้อแตกต่างขัดแย้งกันเอง หรือมีข้อน่าสงสัยบางประการแล้ว ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียทุกกรณีไป ข้อพิรุธน่าระแวงสงสัยอันจะเป็นเหตุให้ยกฟ้องโจทก์นั้นต้องเป็นข้อบกพร่องของพยานหลักฐานโจทก์ที่ทำให้น้ำหนักคำพยานเลื่อนลอยไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังเป็นความจริงได้โดยสนิทใจ ส่วนข้อแตกต่างขัดแย้งกันในกรณีอื่นที่ไม่มีผลต่อการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพยานหาเป็นข้อพิรุธอันจะเป็นเหตุให้ยกฟ้องโจทก์ไม่ ข้อแตกต่างผิดเพี้ยนกันในรายละเอียดปลีกย่อยอันเป็นพลความหรือข้อพิรุธที่ไม่เกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริงที่มุ่งจะพิสูจน์ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ย่อมไม่เป็นเหตุทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6, 11, 13 ทวิ, 62, 89, 106 และ นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2686/2539 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นเหตุบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน คำขอให้นับโทษต่อให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อขาย และขายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับตามฟ้องจริงหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 บัญญัติว่า
“ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย”
บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นมีความหมายว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวง ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงใดหรือไม่ พยานหลักฐานใดขัดต่อเหตุผลไม่น่ารับฟัง และในกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษบุคคลใด พยานหลักฐานในคดีนั้นต้องมั่นคงแน่นหนา และมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง หากพยานหลักฐานในสำนวนนี้มีข้อพิรุธน่าระแวงสงสัยไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าหากพยานหลักฐานของโจทก์มีข้อแตกต่างขัดแย้งกันเอง หรือมีข้อน่าสงสัย บางประการแล้ว ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียทุกกรณีไป ข้อพิรุธน่าระแวงสงสัยอันจะเป็นเหตุให้ยกฟ้องโจทก์นั้นต้องเป็นข้อบกพร่องของพยานหลักฐานโจทก์ที่ทำให้น้ำหนักคำพยานเลื่อนลอยไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังเป็นความจริงได้โดยสนิทใจ ส่วนข้อแตกต่างขัดแย้งกันในกรณีอื่นที่ไม่มีผลต่อการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพยานหาเป็นข้อพิรุธอันจะเป็นเหตุให้ยกฟ้องโจทก์ไม่ เป็นต้นว่า ข้อแตกต่างผิดเพี้ยนกันในรายละเอียดปลีกย่อยอันเป็นพลความหรือข้อพิรุธที่ไม่เกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริงที่มุ่งจะพิสูจน์ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ย่อมไม่เป็นเหตุทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์ สำหรับคดีนี้โจทก์มีพยานสำคัญคือนายบำรุง สุขสิงห์ กับนายสุรศักดิ์ วิศิษฐ์สรศักดิ์ เจ้าพนักงานสังกัดสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นผู้จับกุมจำเลยเป็นพยานเบิกความตรงกันว่า ในวันเกิดเหตุพยานกับพวกร่วมกันวางแผนจับกุมจำเลยโดยใช้ให้สายลับไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลย ได้นัดหมายและซักซ้อมกันให้นายสุรศักดิ์ร่วมทางไปกับสายลับ ส่วนนายปรุงคอยอยู่ที่รถยนต์ซึ่งจอดรถอยู่ห่างจากบ้านของจำเลยประมาณ 200 เมตร สำหรับเหตุการณ์ต่อจากนั้นนายสุรศักดิ์เบิกความยืนยันว่า เห็นจำเลยขายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่สายลับในราคา 140 บาท หลังจากนั้นสายลับกับนายสุรศักดิ์กลับไปหานายปรุงสายลับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่นายปรุงแล้วแยกทางกลับไป พยานโจทก์ทั้งสองเข้าตรวจค้นตัวจำเลยก็พบธนบัตรของกลางที่สายลับนำไปซื้อยาเสพติดให้โทษอยู่ที่จำเลยสมจริง ทั้งจำเลยยอมรับสารภาพต่อพยานโจทก์ทั้งสองว่า ได้เงินของกลางมาจากการขายเมทแอมเฟตามีน จำเลยยังได้เขียนคำรับสารภาพของตนเองไว้ด้วยตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำรับสารภาพเอกสารหมาย ป.จ. 4 และ ป.จ. 5 (ศาลอาญา) ทนายจำเลยมิได้ตามประเด็นไปถามค้านพยานโจทก์เหล่านี้เพื่อซักฟอกพยานและพิสูจน์ความจริงตามกระบวนความ คำเบิกความของนายปรุงกับนายสุรศักดิ์ จึงไม่ปรากฏข้อพิรุธอันจะเป็นเหตุให้ทำลายน้ำหนักคำเบิกความของบุคคลทั้งสองแต่ประการใด ที่จำเลยฎีกาว่าพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า ก่อนจับกุมจำเลยพยานได้ขออนุมัติต่อนายราชันย์ วรรศิริ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเพื่อใช้เงินของกลางล่อซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลยและได้รับอนุมัติในวันเดียวกัน แต่ลายมือชื่อของนายราชันย์ในช่องผู้อนุมัติในเอกสารหมาย ป.จ. 1 (ศาลอาญา) แตกต่างไปจากลายมือชื่อที่นายราชันย์เซ็นในบันทึกคำให้การพยาน นอกจากนี้วันเดือนปีใต้ลายมือชื่อผู้อนุมัติในเอกสารหมาย ป.จ. 1 (ศาลอาญา) ก็เป็นคนละปีกับวันเกิดเหตุ ทำให้น่าสงสัยว่านายปรุงน่าจะมิได้ขออนุมัตินายราชันย์ก่อนดำเนินการจับกุมจำเลยนั้น เห็นว่านายปรุงจะได้ทำการล่อซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลยโดยพลการ หรือได้รับความเห็นชอบจากนายราชันย์ก่อนก็ไม่มีผลทำให้น้ำหนักคำเบิกความของนายปรุงกับนายสุรศักดิ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยเปลี่ยนแปลงไป
ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า หากจำเลยเป็นผู้ขายยาเสพติดให้โทษจริง จำเลยย่อมจะต้องระมัดระวังตัวไม่ขายยาเสพติดให้โทษแก่สายลับต่อหน้านายสุรศักดิ์ซึ่งเป็นคนแปลกหน้านั้น เห็นว่า ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแต่ละรายย่อมมีนิสัยและความประพฤติตลอดจนความระมัดระวังตนแตกต่างกันไปจะถือเป็นหลักเกณฑ์ตายตัวว่าผู้กระทำความผิดประเภทนี้ย่อมไม่ขายยาเสพติดให้โทษแก่คนแปลกหน้าไม่ได้ เหตุผลที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาไม่อาจหักล้างคำเบิกความของพยานโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง พยานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้าง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อขาย และขายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน