แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศจากโจทก์ โดยได้ทำสัญญาว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะเข้ารับราชการในกระทรวง ทบวง กรม ตามที่โจทก์กำหนด โดยต้องรับราชการต่อไปไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะเวลาที่ศึกษาต่อหากไม่ครบกำหนดเวลา จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้ทุนที่โจทก์จ่ายไปแล้วพร้อมเบี้ยปรับ การที่จำเลยที่ 1ไปปฏิบัติงาน ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สืบเนื่องมาจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัดได้ขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี แม้จะมีการสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากราชการ แต่ก็มิใช่สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ทำหนังสือแจ้งความประสงค์ขอลาออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจดังกล่าว ทั้งงานที่จำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยรวมอันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทางราชการที่ส่งจำเลยที่ 1 ไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ ระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติงาน ณ หน่วยงานดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติราชการสามารถนำมารวมนับระยะเวลาชดใช้ทุนตามสัญญาด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับราชการครบกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ตามสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ทุนและเบี้ยปรับจำนวนตามฟ้องให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินชดใช้ทุนจำนวน 159,965.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับการคัดเลือกเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล (ทุน ก.พ.) ให้ไปศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับโจทก์ว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจำเลยที่ 1 จะเข้ารับราชการในกระทรวง ทบวง กรม ตามที่โจทก์กำหนด โดยจะต้องรับราชการต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้ศึกษาวิชาในต่างประเทศ ถ้าจำเลยที่ 1 รับราชการไม่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้ทุน ก.พ. ที่โจทก์ได้จ่ายไปแล้ว รวมทั้งเบี้ยปรับอีกจำนวนหนึ่งเท่ากับทุน ก.พ. ดังกล่าวโดยลดลงตามส่วนที่จำเลยที่ 1 รับราชการชดใช้ไปบ้างแล้ว ทั้งนี้โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ครั้นเมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้วโจทก์ได้จัดให้เข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ระดับ 4 ที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2524 เรื่อยมา ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามที่รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของจำเลยที่ 1 เสนอให้ไปปฏิบัติงาน ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังกัดสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีกำหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2530 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2531 โดยไม่ต้องลาออกจากราชการ เมื่อครบกำหนดเวลา 1 ปี แล้ว รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอเรื่องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีให้จำเลยที่ 1 อยู่ปฏิบัติงานที่เดิมต่อไปอีกมีกำหนดเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2531 เป็นต้นไป โดยให้ออกจากราชการและให้นับเวลาระหว่างนั้นเต็มเวลาราชการคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 อยู่ปฏิบัติงานที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2531 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2532 แล้วกลับเข้ารับราชการในสังกัดเดิม คือ ที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคมตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2532 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ลาออกจากราชการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2535 กรณีมีปัญหาว่าระยะเวลา 355 วัน ซึ่งอยู่ในช่วงที่จำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติงาน ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดังกล่าวจะถือได้หรือไม่ว่าเป็นการปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาการรับทุนด้วย จากข้อเท็จจริงตามที่กล่าวมาเห็นได้ว่าการที่รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากราชการก็สืบเนื่องมาจากรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยทำหนังสือแจ้งความประสงค์ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้จำเลยที่ 1 อยู่ปฏิบัติงาน ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปอีกมิใช่สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ทำหนังสือแจ้งความประสงค์ขอลาออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงาน ณ หน่วยงานดังกล่าวซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้ลาออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจ อันจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้เงินฐานผิดสัญญาตามมติคณะรัฐมนตรีตามที่โจทก์อ้างในฎีกา เพราะเมื่อพิจารณามติคณะรัฐมนตรี ข้อ 3 ที่ระบุว่า ผู้ผิดสัญญาจะต้องชดใช้เงินตามสัญญาในกรณี
3.2 ลาออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจแล้ว ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า ผู้ผิดสัญญาหรือผู้รับทุนจะต้องชดใช้เงินตามสัญญาเป็นกรณีที่ผู้ผิดสัญญาหรือผู้รับทุนนั้นได้ลาออกจากราชการไปโดยเด็ดขาด ซึ่งต่างกับกรณีของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ที่รัฐมนตรีเจ้าสังกัดได้มีคำสั่งให้ออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจตามมติคณะรัฐมนตรีโดยมีกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงานมิใช่การขอลาออก ซึ่งก่อนหรือเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ให้ออกจากราชการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็สามารถขอกลับเข้ารับราชการในสังกัดเดิมได้ และแม้ตามมติคณะรัฐมนตรีจะกำหนดไว้ว่า กรณีนอกเหนือหรือแตกต่างจากหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้วินิจฉัยและโจทก์ได้หารือไปยังกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังได้ตอบข้อหารือว่าระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2531 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2532 ไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาเนื่องจากมีการลาออกจากราชการ แต่เมื่อคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของสัญญาการรับทุน เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าการที่ทางราชการส่งจำเลยที่ 1 ไปศึกษาวิชาในต่างประเทศก็เพื่อให้เกิดความรู้ความชำนาญงาน และกลับมารับราชการเพื่อประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประเทศชาติสืบไป ประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้วก็ได้กลับมารับราชการตามที่โจทก์กำหนดตามสัญญาการรับทุนเรื่อยมา และการที่จำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติงาน ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในครั้งแรกและครั้งที่สองก็สืบเนื่องมาจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัดได้ขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี อันมิใช่สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ทำหนังสือแจ้งความประสงค์ขอลาออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจดังกล่าวในตอนต้น ทั้งงานที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานดังกล่าว ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยรวม อันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทางราชการที่ส่งจำเลยที่ 1 ไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ ดังนั้นระยะเวลา 355 วัน ซึ่งอยู่ในช่วงตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2531 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2532 อันเป็นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติงาน ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในช่วงที่สองนี้ จึงต้องนำมาคำนวณเป็นเวลาที่ต้องชดใช้ทุนโดยถือเป็นการปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาการรับทุนด้วย ดังนี้กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับราชการครบกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาการรับทุน จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ทุนและเบี้ยปรับจำนวนตามฟ้องให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน ที่ศาลทั้งสองพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.