คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 304/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทได้มีการจัดทำระวางแผนที่ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2454 ก่อนที่พระบาทสมเด็จ-พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 จะมีพระบรมราชโองการกำหนดเขตที่ดินดังกล่าวให้เป็นเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในปี พ.ศ.2467 พระบรมราชโองการดังกล่าวเป็นพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตที่ดินทั้งสี่ด้านไว้โดยละเอียด จึงมีผลเป็นกฎหมายที่บุคคลทุกคนรวมทั้งจำเลยทั้งสองจะต้องรับรู้ว่าที่ดินในบริเวณดังกล่าวเป็นที่หลวง แม้ขณะที่มีการออกโฉนดที่ดินพิพาท ยังมิได้มีการลงแนวเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในระวางแผนที่ เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษายังมิได้มีคำขอให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 26 (พ.ศ.2516) แต่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเพิ่งจะออกมาใช้บังคับในภายหลัง จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเพราะเหตุดังกล่าวหาได้ไม่ นอกจากนี้ขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสามเมื่อปี พ.ศ.2510 ที่ดินพิพาทอยู่ในระหว่างรังวัดสอบเขตตามคำขอของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องทราบดีและควรระงับการโอนไว้ก่อน แต่หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองออกโฉนดที่ดินพิพาททับเขตที่ดินพระราชนิเวศน์มฤคทายวันและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสาม เป็นการกระทำโดยความประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม เนื่องจากทำให้โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับประโยชน์จากที่ดินพิพาท จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสองในฐานะผู้บังคับบัญชาของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๐๐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำโดยประมาทเลินเล่อออกโฉนดที่ดินในเขตตำบลชะอำ อำเภอชะอำ (นายาง) จังหวัดเพชรบุรี รวม ๓ โฉนด แก่นายตอม เศรษฐบุตร ทับที่หลวง ซึ่งบุคคลทั้งสองโดยฐานะและตำแหน่งหน้าที่การงานต้องรู้ดี และเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามโฉนดจากนายตอมให้แก่โจทก์ทั้งสามตามสัญญาซื้อขาย และต่อมาจำเลยที่ ๑ได้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสามโฉนดเนื่องจากออกทับที่หลวง เป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย โดยโจทก์จะขายที่ดินตามโฉนดดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อที่รวม ๑๐๒ ไร่ ๒ งาน ๘ ตารางวา ในราคาไร่ละ๒๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๒๐,๕๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ซึ่งโจทก์พึงขายได้
จำเลยทั้งสองให้การว่า การออกโฉนดที่ดินตามฟ้องเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติตามระเบียบราชการ มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ นายตอมมีหลักฐานการครอบครองทำประโยชน์โดยถูกต้องตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๐ และพ.ศ.๒๔๙๗ ขณะนำเจ้าพนักงานรังวัดมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงระวังแนวเขต เจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ ๑ ตรวจสอบแล้วไม่ปรากฏว่าเป็นที่หลวงหวงห้ามหรือที่สาธารณประโยชน์จึงออกให้ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๑๐ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ผู้ครอบครองดูแลพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ได้ทำการรังวัดปักหลักเขตที่ดินเพื่อออกโฉนด จึงได้พบว่าโฉนดที่ดินตามฟ้องได้ออกทับที่ของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งได้มีพระราชโองการของรัชกาลที่หกประกาศกำหนดเขตไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ และพ.ศ.๒๔๖๗ แต่ยังมิได้มีการรังวัดแนวเขตแน่นอนการกระทำของจำเลยทั้งสองมิได้ละเมิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินกว่าเหตุ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่๑๘ กันยายน ๒๕๐๐ นายชาติ บุณยรัตพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีในขณะนั้นซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ ๒ และนายภุชงค์ สุวรรณจูฑะ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีในขณะนั้น ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกันออกโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้แก่นายตอมเศรษฐบุตร และเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ นายฉัตร โรจนราธา เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีในขณะนั้นซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงจากนายตอมให้แก่โจทก์ทั้งสาม ต่อมาปรากฏว่าโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามแปลงออกทับเขตที่ดินพระราชนิเวศน์มฤคทายวันอันเป็นที่หลวง จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่านายชาติกับนายภุชงค์ออกโฉนดที่ดินพิพาทและนายฉัตรจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามหรือไม่ และจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า นายวิชัยภู่วิจิตร พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ ๑ ให้เป็นคณะกรรมการสอบสวนกรณีออกโฉนดที่ดินทับเขตที่ดินพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และนายเสรี อติชาติ นายช่างรังวัดสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี พยานจำเลยเบิกความยอมรับว่าที่ดินพิพาทได้มีการจัดทำระวางแผนที่ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ จะมีพระบรม-ราชโองการกำหนดเขตที่ดินดังกล่าวให้เป็นเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในปี พ.ศ.๒๔๖๗พระบรมราชโองการดังกล่าวเป็นพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชทั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาระบุแนวเขตที่ดินทั้งสี่ด้านไว้โดยละเอียด ตามเอกสารหมาย ล.๙จึงมีผลเป็นกฎหมายที่บุคคลทุกคนจะต้องรับรู้ว่าที่ดินในบริเวณดังกล่าวเป็นเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันอันเป็นที่หลวง โดยเฉพาะจำเลยทั้งสองซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินย่อมต้องทราบว่าที่ดินในบริเวณดังกล่าวออกโฉนดที่ดินไม่ได้ แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่มีการออกโฉนดที่ดินพิพาทยังมิได้มีการลงแนวเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในระวางแผนที่ เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาพระราชนิเวศน์มฤคทายวันยังมิได้มีคำขอให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ.๒๕๑๖) แต่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเพิ่งจะออกมาใช้บังคับในภายหลัง จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเพราะเหตุดังกล่าวหาได้ไม่ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าก่อนที่จะมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ สำนักงานทรัพย์สินส่วน-พระมหากษัตริย์ได้ขอรังวัดสอบเขตที่ดินพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในปี พ.ศ.๒๕๐๘ และได้มีการดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินตามคำขอ แม้การรังวัดสอบเขตและการลงแนวเขตในระวางแผนที่จะแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๑๐ ภายหลังมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสาม แต่เจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ ๑ ผู้ทำการจดทะเบียนย่อมต้องทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในระหว่างดำเนินการรังวัดสอบเขตตามคำขอของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ควรระงับการโอนไว้ก่อน แต่หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองออกโฉนดที่ดินพิพาททับเขตที่ดินพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสาม จึงเป็นการกระทำโดยความประมาทเลินเล่อ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเนื่องจากทำให้โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับประโยชน์จากที่พิพาท จึงเป็นการกระทำละะเมิดต่อโจทก์ทั้งสามจำเลยทั้งสองในฐานะผู้บังคับบัญชาของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิด
สำหรับความเสียหายของโจทก์ทั้งสามนั้น โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามอาจขายที่ดินพิพาทได้ในขณะถูกเพิกถอนไร่ละไม่น้อยกว่า ๒๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาซื้อขายที่ดินใกล้เคียงเอกสารหมาย จ.๑๐ นั้น เห็นว่า ไม่ปรากฏว่าที่ดินตามเอกสารหมาย จ.๑๐ มีเนื้อที่เท่าใด อยู่ใกล้ไกลจากที่ดินพิพาทเท่าใด จึงยังฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทมีราคาตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงมีราคาประเมินของทางราชการในช่วงระหว่างปี ๒๕๒๕ – ๒๕๒๗รวมกันเป็นเงิน ๓,๐๓๐,๓๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ล.๑๓ ราคาประเมินดังกล่าวมิได้ใช้กับที่ดินพิพาทเท่านั้น แต่ใช้กับที่ดินแปลงอื่นในบริเวณใกล้เคียงด้วย จึงเห็นควรกำหนดให้โจทก์ทั้งสามได้รับชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินตามราคาประเมินของทางราชการ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ขอมาคือวันที่ ๑๘ พฤศษภาคม ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนโฉนด
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน ๓,๐๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.

Share