คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3034/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี ต่อมาโจทก์ถึงแก่ความตายแม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ไม่ได้ขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ ผู้ร้องก็ย่อมมีสิทธิขอดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้เพราะกรณีไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ศาลพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนเนื้อที่ 200 ตารางวาในที่ดินโฉนดเลขที่ 1884 แก่โจทก์ แต่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปแบ่งเป็นแปลงเล็ก ๆออกจำหน่ายก่อนแล้ว ในที่ดินจำนวนนี้ศาลชั้นต้นได้สั่งอายัดไว้ 4 แปลงสำหรับคดีนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่ายังมีที่ดินส่วนอื่นนอกจากที่ดิน 4 แปลงดังกล่าว ทั้งจำเลยก็ไม่ได้เสนอที่ดินส่วนอื่นให้โจทก์ ดังนี้ ผู้ร้องย่อมร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยโอนที่ดิน 4 แปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องได้ ไม่เป็นการร้องขอให้โอนที่ดินแปลงอื่นนอกจากที่กล่าวในคำพิพากษาและคำบังคับ ทั้งไม่เป็นการพิพากษาและบังคับคดีนอกไปจากคำฟ้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนเนื้อที่ 200 ตารางวา ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1884 แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของโจทก์ได้ร้องขอเข้ามาบังคับคดี โดยขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินรวม 4 แปลง ซึ่งจำเลยได้ขอแบ่งแยกมาจากโฉนดเลขที่ 1884 จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะ จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง และผู้ร้องจะขอให้บังคับคดีโอนที่ดิน 4 แปลงดังกล่าวไม่ได้ ขอให้ยกคำร้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกคำบังคับไปยังจำเลยให้โอนที่ดินทั้ง 4 แปลงแก่ผู้ร้องภายใน 30 วัน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่ผู้ร้องเพราะผู้ร้องไม่ใช่คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี และผู้ร้องไม่ได้ขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาพิพากษาคดีแล้วต่อมาโจทก์ถึงแก่ความตาย กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ย่อมมีสิทธิขอดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้ไม่ได้มีการขอให้บังคับคดีให้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1884 ตามคำพิพากษาและคำบังคับของศาลชั้นต้นเลยจนบัดนี้เป็นระยะเวลาเกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ได้ออกตามคำพิพากษานั้น คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) จะขอให้บังคับคดีให้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1884 ตามคำพิพากษาไม่ได้อีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เห็นว่า ในกรณีที่มีการฎีกา ระยะเวลาที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาต้องนับจากวันฟังคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์จำเลยฟังเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2518 และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับคดีโอนที่ดินให้แก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2528 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ผู้ร้องจึงร้องขอให้บังคับคดีได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนเนื้อที่ 200 ตารางวา ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1884 ตำบลบางกระสออำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดยลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยเมื่อศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฉะนั้น การบังคับคดีจะพึงกระทำได้เฉพาะที่ดินโฉนดดังกล่าวเท่านั้น ผู้ร้องจะร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดอื่น รวม4 แปลง ตามที่ร้องนั้นหาได้ไม่ เห็นว่า ในวันนัดพร้อมทนายจำเลยเองยอมรับว่าที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าวที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องนั้นได้แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1884 ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยกับพวกได้นำที่ดินไปแบ่งเป็นแปลงเล็ก ๆ ออกจำหน่ายเป็นเวลานานมาแล้วและไม่ปรากฏว่า ยังมีที่ดินส่วนอื่นนอกจากที่ดิน 4 แปลงนี้ ซึ่งได้มีการอายัดไว้อีก ทั้งจำเลยก็ไม่ได้เสนอที่ดินส่วนอื่นให้โจทก์ ดังนั้น คำร้องที่ผู้ร้องขอให้บังคับคดีจึงไม่ได้เป็นการร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอื่นนอกไปจากที่กล่าวในคำพิพากษาและคำบังคับแต่อย่างใด ทั้งไม่เป็นการพิพากษาและบังคับคดี นอกไปจากคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องตามที่จำเลยกล่าวอ้าง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยโอนที่ดินทั้ง4 แปลงดังกล่าวให้ผู้ร้อง จึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share