คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3032/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบมาฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำโดยทุจริตต่อหน้าที่จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์จำเลยอุทธรณ์ว่าที่ศาลแรงงานนำผลคำพิพากษาแห่งคดีอาญาซึ่งพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจรมาขึ้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ทุจริตต่อหน้าที่เพราะจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาดังกล่าวไม่มีพยานหลักฐานอันจะฟังได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่จำเลยไม่อาจเห็นพ้องด้วยการที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ในการขับรถและดูแลรักษารวมถึงการตรวจตราเครื่องยนต์ประจำรถยนต์คันเกิดเหตุจึงต้องมีวิสัยในการดูแลรถยนต์คันที่ตนเองรับผิดชอบให้เรียบร้อยปราศจากสิ่งของอื่นใดซึ่งไม่เคยมีมาก่อนพฤติการณ์ที่จำเลยไม่ดูแลรถยนต์คันที่ตนเองรับผิดชอบดังกล่าวถือได้แล้วว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้นเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา54วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 16พฤศจิกายน 2529 ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ทั้งจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบตามกฎหมาย และไม่ได้จ่ายค่าชดเชย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยการแจ้งความเท็จกล่าวหาโจทก์ว่าลักทรัพย์ของจำเลย โจทก์ถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวต้องเสียเวลาในระหว่างถูกดำเนินคดีเป็นเวลา 10 เดือน ทำให้ได้รับความเสียหายขอคิดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวเป็นเงิน 32,000 บาท และโจทก์ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีรวมเป็นเงิน 30,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลย มีหน้าที่ขับรถส่งสินค้าและดูแลรักษารถให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย เมื่อวันที่ 22กุมภาพันธ์ 2534 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่หยุดการทำงานตามปกติ พนักงานของจำเลยตรวจพบสินค้าของจำเลยประเภทหัวเชื้อน้ำมันเครื่องจำนวน 3 หีบ หีบละ 24 กระป๋อง ราคาประมาณ 4,500 บาท ภายในรถที่โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษาอันมีลักษณะเป็นการซุกซ่อนและมิได้อยู่ในรายการสั่งซื้อของลูกค้า ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยจึงได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระประแดงถึงพฤติกรรมดังกล่าวโดยสุจริต มิได้กลั่นแกล้งโจทก์แต่ประการใด การเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย และจำเลยไม่ต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีของโจทก์ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่16 พฤศจิกายน 2529 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เวลาประมาณ9 นาฬิกา ขณะที่โจทก์ขับรถนำสินค้าของจำเลยประเภทน้ำมันเครื่องออกจากซอยบริเวณบริษัทจำเลยเพื่อไปส่งแก่ลูกค้าถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ตรวจค้นพบสินค้าซึ่งไม่อยู่ในรายการที่ต้องนำส่งลูกค้าจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ในวันนั้น ต่อมาโจทก์ถูกดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจรที่ศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรไม่เป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมตามฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีจากจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากมีการจับกุมและดำเนินคดีแก่โจทก์แล้วจำเลยจึงได้เลิกจ้างโจทก์ทันทีโดยมีเหตุสมควรกรณีจึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ แต่ที่โจทก์ขอดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น ไม่ปรากฎว่ามีกฎหมายให้สิทธิโจทก์เรียกได้ในอัตราดังกล่าว จึงให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 19,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำโดยทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางนำผลคำพิพากษาแห่งคดีอาญาซึ่งพิพากษายกฟ้องประกาศกระทรวงในคดีข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจรมาขึ้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ทุจริตต่อหน้าที่เพราะจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาดังกล่าวไม่มีพยานหลักฐานอันจะฟังได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยไม่อาจเห็นพ้องด้วย การที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ในการขับรถและดูแลรักษารวมถึงการตรวจตราเครื่องยนต์ประจำรถยนต์คันเกิดเหตุ จึงต้องมีวิสัยในการดูแลรถยนต์คันที่ตนเองรับผิดชอบให้เรียบร้อยปราศจากสิ่งของอื่นใดซึ่งไม่เคยมีมาก่อน พฤติการณ์ที่จำเลยไม่ดูแลรถยนต์คันที่ตนเองรับผิดชอบดังกล่าวถือได้แล้วว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54วรรคหนึ่ง ศาลแรงงานกลางรับอุทธรณ์ของจำเลยเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย

Share