แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การแย่งครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1375เป็นกรณีที่ใช้บังคับได้แต่เฉพาะแก่ทรัพย์สินธรรมดาสำหรับสินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์นั้นต้องใช้บังคับตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ซึ่งได้บัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษในเรื่องกรรมสิทธิ์และการโอนที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะนำบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินธรรมดามาใช้บังคับไม่ได้ซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ.2505มาตรา34ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติและห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ดังนั้นโจทก์จะยกเรื่องการแย่งการครอบครองขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้งในเรื่องที่วัดไม่ได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนมีใจความว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม1 หน้า 75 สารบบเล่ม 1 หน้า 42 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปตัดฟันไม้ขุดดิน ฝังเสาปูนในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นแนวยาวจากทางด้านทิศเหนือไปจดทิศใต้เพื่อแสดงให้เห็นว่าที่ดินที่ฝังเสาปูนกั้นเป็นแนวไว้นั้นเป็นของจำเลยที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ และ 6 ไร่ ตามลำดับโจทก์ทั้งสองได้ห้ามปรามจำเลยทั้งสองและให้รื้อถอนเสาออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยและโต้แย้งว่าเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนเสาปูนออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสามเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป และขอให้สั่งว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งในสำนวนแรกว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ดังฟ้อง ในการรังวัดขอออกโฉนดโจทก์ที่ 1 ได้เลื่อนตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินบุกรุกเข้ามาในที่ดินของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองได้ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ห้ามโจทก์ที่ 1 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งในสำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 2มิได้เป็นเจ้าของหรือมีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามฟ้องแต่อย่างใด ที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1ห้ามโจทก์ที่ 2 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินอีกต่อไป
จำเลยที่ 2 ให้การทั้งสองสำนวนในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนในการสำรวจเขตวัดจำเลยที่ 1 แต่ได้แต่งตั้งผู้มีชื่อรวม 4 คน เป็นตัวแทน การแต่งตั้งนั้นจำเลยที่ 2 ได้กระทำในฐานะเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1มิใช่เป็นการกระทำในฐานส่วนตัว โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดเป็นการส่วนตัวขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การทั้งสองสำนวนทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3มิได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ในการสำรวจเขตที่ดินของวันจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามฟ้องเพียงผู้เดียว หากที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 จริง จำเลยที่ 1 ก็ถูกแย่งการครอบครองเกินกว่า 1 ปีแล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
โจทก์ที่ 2 ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 2 ได้ซื้อที่พิพาทมาจากผู้ที่มีชื่อโดยจดทะเบียนการโอนโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายและครอบครองมาประมาณ 29 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่เคยครอบครองหรือโต้แย้งการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินจึงชอบด้วยกฎหมาย หากที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ถูกแย่งการครอบครองไปเกินกว่า1 ปี แล้วย่อมไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่พิพาททั้งสองสำนวน ห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกต่อไปให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่ละสำนวนไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองฎีกาได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ประกอบมาตรา 247 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 และที่พิพาทระหว่างโจทก์ที่ 2กับจำเลยที่ 1 ต่างเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาพระบาทซึ่งเป็นของวัดจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นวัดในพระพุทธศาสนา ซึ่งตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2436 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2462 โจทก์ทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพาณิชย์ มาตรา 1375 มาเป็นข้อพิจารณาประกอบบทบัญญัติของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 เป็นการนำเอาบทกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีมาพิจารณาเป็นการไม่ชอบโดยในประเด็นที่ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่นั้นเป็นเรื่องการได้มาซึ่งสิทธิโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1375 ย่อมเสียสิทธิไปด้วยอายุความฟ้องร้องตามประเด็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 163 จึงจะนำบทกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีมาพิจารณาไม่ได้ เห็นว่า ที่พิพาททั้งสองแปลงเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาพระบาทซึ่งเป็นของวัดจำเลยที่ 1 ที่พิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นที่วัด การที่โจทก์ทั้งสองอ้างการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 นั้นเป็นกรณีที่ใช้บังคับได้แต่เฉพาะแก่ทรัพย์สินธรรมดา สำหรับทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์นั้นต้องใช้บังคับตามพระราชบัญญัติคณะสงค์ซึ่งได้บัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษในเรื่องกรรมสิทธิ์และการโอนที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ จะนำบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินธรรมดามาใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงค์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 บัญญัติว่า ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติและห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจะยกเรื่องอายุความขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้งในเรื่องที่วัดหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน