คำวินิจฉัยที่ 32/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร ที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า นาย ท. สามีของจำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ กระทำการโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายนำที่ดินมือเปล่าของโจทก์ไปเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก) เลขที่ ๑๒๕๔ อันเป็นการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากออกทับที่ดินของโจทก์ ขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก ดังกล่าวเฉพาะในส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้รับสิทธิโดยการตกทอดทางมรดกจากสามีจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก และการอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ รับมรดกสิทธิการเข้าทำประโยชน์ต่อจากนาย ท. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ให้อำนาจแก่จำเลยที่ ๒ ในการจัดสรรที่ดินมอบให้แก่เกษตรกรสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำการปฏิรูปที่ดินโดยการปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การได้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของเอกชนเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่กำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินไว้หลายประการ อันเป็นการแตกต่างจากการได้สิทธิในที่ดินของเอกชนตามประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐในคดีนี้ต้องเป็นไป ตามที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ และการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก ดังกล่าวเป็นการอนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับอนุญาต จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ คดีจึงมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยว่า การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก ให้แก่สามีของจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

Share