แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่กล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยเอกสาร แม้ว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาอันเนื่องจากการกระทำเดียวกัน แต่คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องเนื่องจากโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 กรณีของโจทก์คดีนี้จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 51 จึงต้องใช้อายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2525 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2525เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสี่ดำเนินคดีฐานร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน 52,000 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหาย 52,000 บาทแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 52,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ได้ร่วมกันยื่นหนังสือร้องเรียนโจทก์จริง การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด เพราะจำเลยได้ทำไปเพื่อความชอบธรรมของประชาชนโดยส่วนรวม ข้อความที่ร้องเรียนก็เป็นความจริง หากโจทก์เสียหายก็ไม่เกิน 1,000 บาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยมีว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้โดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสี่หมิ่นประมาทโจทก์ด้วยเอกสาร แม้ว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาอันเนื่องจากการกระทำเดียวกันแต่คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องเนื่องจากโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เครื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4464/2529 กรณีของโจทก์คดีนี้จึงไม่อยู่ในหลกัเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51จึงต้องใช้อายุควา 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคแรกโจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสี่ดำเนินคดีอาญาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2525 แสดงว่าโจทก์ต้องรู้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำการดังที่โจทก์กล่าวอ้างก่อนหน้านั้น หรืออย่างช้าในวันดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่5 เมษายน 2528 เกินกำหนด 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.