คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3030/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันว่า “LUCKY” อ่านว่า”ลักกี้”แปลว่าโชคดี ใช้กับสินค้าที่นอนสปริง ในจำพวกสินค้าประเภท 51 ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมันว่า”LUXKY” อ่านว่า “ลักกี้ ” แปลความหมายไม่ได้ ใช้กับสินค้าที่นอนทุกชนิดในจำพวกสินค้าประเภท 41 เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมันและจำนวนตัวอักษรเท่ากันตัวอักษรต่างกันเฉพาะตัวที่ 3 เท่านั้น แต่คงอ่านออกเสียงเหมือนกันแม้สินค้าของโจทก์และจำเลยจะจดทะเบียนไว้ต่างจำพวกกันแต่ก็จดทะเบียนสินค้าในประเภทเดียวกันคือที่นอน ทั้งจำเลยก็ผลิตสินค้าประเภทที่นอนออกจำหน่ายเช่นเดียวกับโจทก์ สาธารณชนย่อมหลงผิดว่า สินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ ดังนี้ โจทก์มีสิทธิขอให้ศาลบังคับจำเลยงดใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “LUXKY” และขอเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2508 นายจาโป๋ว แซ่เบ๊ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้จัดการร้านโจทก์ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “LUCKY”อ่านว่า “ลักกี้” แปลว่าโชคดีใช้กับสินค้าที่นอนสปรองต่อกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ และได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ ทั้งได้ใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าที่นอนสปริงจำพวก 50 นับแต่นั้นตลอดมา ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2510โจทก์ได้รับโอนเครื่องหมายการค้าจากนายจาโป๋ว แซ่เบ๊ มาเป็นของโจทก์และโจทก์ได้ผลิตจำหน่ายสินค้าดังกล่าวตลอดมาเป็นเวลา 19 ปีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2524 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “LUCKY” อ่านว่า “ลักกี้” แปลไม่ได้ใช้กับสินค้าที่นอนเช่นเดียวกับโจทก์ ตามคำขอเลขที่ 121516 ทะเบียนเลขที่ 77040 เป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งมีสิทธิดีกว่าจำเลย โจทก์แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้ศาลบังคับจำเลยงดใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวบนสินค้าที่ทำออกจำหน่ายและให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอน หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้า “LUCKY”อ่านว่า “ลักกี้” ตามฟ้องสำหรับสินค้าในจำพวก 50 รายการ สินค้าที่นอนสปริงเครื่องหมายการค้า “LUCKY” อ่านว่า “ลักกี้” ของจำเลยสำหรับสินค้าในจำพวก 41 เป็นคนละประเภทคนละจำพวกกันและไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามฟ้อง ทั้งลักษณะลวดลายก็แตกต่างกัน ไม่เป็นเหตุให้ผู้ซื้อสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดแต่อย่างใด จำเลยได้จดทะเบียนการค้าของตนโดยสุจริต โจทก์มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวก 50 ส่วนของจำเลยใช้กับสินค้าจำพวก 41 ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าในสินค้าคนละจำพวก จำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474โจทก์ไม่มีสิทธิห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยงดใช้เครื่องหมายการค้าที่มีอักษรโรมันคำว่า “LUCKY” อ่านว่า “ลักกี้” บนสินค้าที่นอนทุกชนิดของจำเลยที่ทำออกจำหน่ายให้จำเลยไปจดทะเบียเพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยตามคำขอเลขที่ 121516 ทะเบียนเลขที่77040 หากไม่ได้ก็ให้โจทก์จดทะเบียนเพิกถอนเองได้โดยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “LUCKY” อ่านว่า “ลักกี้”แปลความหมายว่าโชคดี ใช้กับสินค้าที่นอนสปริงในจำพวกสินค้าประเภท 50 โดยรับโอนมาจากนายจาโป๋ว แซ่เบ๊เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์2510 ตามเอกสารหมาย จ.4 และโจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายที่นอนสปริงใช้กับเครื่องหมายการค้าของตนตลอดมาเป็นเวลานาน 20 ปีแล้วเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2524 จำเลยได้ขอจดทะเบียนการค้าคำว่า”LUCKY” อ่านว่า “ลักกี้” (หรือลักซ์กี้) แปลความหมายไม่ได้ใช้กับสินค้าจำพวก 41 ตามคำขอเลขที่ 121516 ทะเบียนเลขที่ 77040ตามเอกสารหมาย จ.6-จ.8 มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนทำให้สาธารณชนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์หรือไม่ในปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า เครื่องหมายการค้า “LUCKY” ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า “LUCKY” ของจำเลยนั้นมีตัวอักษรโรมัน5 ตัวเช่นเดียวกัน อักษรตัวที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เหมือนกันทุกตัว คงต่างกันเฉพาะอักษรตัวที่ 3 เท่านั้น กล่าวคือเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัว C แต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นตัว X สำหรับการอ่านออกเสียงนั้นเครื่องหมายการค้าของโจทก์อ่านว่า ลักกี้ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นตามคำให้การของจำเลย จำเลยก็ยอมรับว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยก็อ่านว่าลักกี้ เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ สินค้าของโจทก์จดทะเบียนตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.2ซึ่งระบุว่าเป็นสินค้าจำพวก 50 ประเภทที่นอนสปริง ส่วนสินค้าของจำเลยจดทะเบียนไว้ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.8ในสินค้าจำพวก 41 ประเภทที่นอนทุกชนิดเห็นได้ว่าแม้สินค้าของโจทก์และของจำเลยจะจดทะเบียนไว้ต่างจำพวกกันแต่ก็จดทะเบียนสินค้าในประเภทเดียวกันคือที่นอน จำเลยจดทะเบียนสำหรับที่นอนทุกชนิดซึ่งรวมทั้งที่นอนสปริงด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยอ่านออกเสียงเหมือนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งจำเลยก็ผลิตสินค้าประเภทที่นอนออกจำหน่ายเช่นเดียวกับโจทก์เช่นนี้ ศาลฎีกาเชื่อว่าสาธารณชนย่อมหลงผิดว่า สินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share