คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3029/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีหน้าที่ดูแล ที่สาธารณะภายในเขตรับผิดชอบ และการระวังแนวเขตบึงทรายกองดินด้าน ที่ติด กับที่ดินของโจทก์ จำเลยได้ปฏิบัติตาม คำสั่ง กระทรวงมหาดไทย ที่วางระเบียบปฏิบัติไว้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและถูกต้อง แล้วการคัดค้านแนวเขตที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบด้วย กฎหมายและสุจริต จำเลยทั้งสี่มิได้ทำละเมิดสิทธิของโจทก์ เมื่อไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้อง มีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้นฉะนั้น นอกจากเอกสารดังกล่าวแล้ว จำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบได้ ว่า กระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบปฏิบัติในการระวังแนวเขตที่สาธารณะไว้อย่างไร แม้เอกสารเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่อ้างเป็นพยานจะฟังไม่ได้เพราะไม่ใช่ต้นฉบับ และผู้ รับรอง สำเนาก็มิใช่ผู้มีอำนาจ แต่ พยานบุคคลที่จำเลยนำเข้าสืบรับฟังได้ .

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 เป็นปลัดกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าเขตมีนบุรีซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบการปฏิบัติราชการภายในเขตแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2จำเลยที่ 4 เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ตามลำดับ จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันละเมิดสิทธิของโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือโจทก์ได้ยื่นคำขอรังวัดสอบเขต จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีหน้าที่ระวังแนวเขตด้านทิศใต้ของโจทก์ คือด้านบึงทรายกองดินจำเลยที่ 3 และที่ 4 อาศัยหลักเขตจากโฉนดที่ดินซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับที่ดินแปลงพิพาทของโจทก์ (คือด้านทิศใต้ของบึงทรายกองดิน) เป็นแนวเขตในการรังวัด จึงทำให้เห็นว่าโจทก์รังวัดล้ำไปในเนื้อที่ของบึงทรายกองดิน การคำนวณของจำเลยทั้งสี่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงเป็นการโต้แย้งสิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สุจริต เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่รับรองแนวเขตและมิให้คัดค้านการรังวัดแบ่งแยกโฉนดเลขที่ 205 ของโจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมลงชื่อในการรังวัดสอบเขตและแบ่งแยกโฉนดดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า เมื่อโจทก์นำช่างรังวัดทำการรังวัดตามคำขอของโจทก์ ทั้งช่างรังวัดและโจทก์ชอบที่จะใช้หลักเขตด้านที่ติดกับบึงทรายกองดินของโฉนดเลขที่204 ซึ่งมีการปักหลักเขตไว้แล้ว เป็นหลักในการสอบเขตที่ดินของโจทก์ แต่โจทก์หาทำเช่นนั้นไม่ กลับนำชี้แนวเขตโฉนดเลขที่ 205ของโจทก์จากทิศเหนือซึ่งไม่มีหลักเขตลงมาทางทิศใต้ของโฉนด จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและรุกล้ำเข้ามาในบึงทรายกองดินทำให้พื้นที่ของบึงทรายกองดินขาดหายไป ย่อมเป็นการคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 และที่ 4จึงไม่สามารถจะรับรองแนวเขตตามที่โจทก์นำชี้ได้ ขอศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกามีว่าจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำละเมิดสิทธิของโจทก์ โดยร่วมกันคัดค้านแนวเขตที่ดินพิพาทตามที่โจทก์นำช่างรังวัดสอบเขตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สุจริตหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเดิมที่ดินทุกโฉนดในบริเวณรอบ ๆ บึงทรายกองดินไม่มีหลักหินแสดงแนวเขตของทางราชการ ต่อมาในปี 2525 นายสุดใจ เจริญช่างเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 28/87 ขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินของนายสุดใจดังกล่าวนี้ ทิศเหนือติดกับบึงทรายกองดิน ทิศใต้ติดกับคลองแสนแสบ ในการรังวัดมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขตทุกด้าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของทางราชการซึ่งมีหน้าที่ดูแลที่สาธารณะคือเจ้าหน้าที่ของเขตมีนบุรีมาระวังแนวเขตด้านที่ติดกับบึงทรายกองดิน เจ้าหน้าที่ของกรมขลประทานมาระวังแนวเขตด้านที่ติดกับคลองแสนแสบ ในการรังวัดนี้ไม่มีฝ่ายใดโต้แย้งหรือคัดค้านแนวเขต จึงได้มีการปักหลักหินแสดงแนวเขตของที่ดินโฉนดเลขที่ 28/87 และหลักหินที่แสดงแนวเขตด้านที่ติดกับบึงทรายกองดินคือหลักหินเลขที่ บ.0680 และ ง.3122 จึงต้องถือว่าหลักหินทั้งสองหลักดังกล่าวเป็นหลักเขตที่ถูกต้องแท้จริง ดังนั้นเมื่อโจทก์ขอรังวัดที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกับบึงทรายกองดินฝั่งตรงข้ามกับที่ดินโฉนดเลขที่ 28/87 และข้อเท็จจริงรับกันว่าที่ดินของโจทก์ด้านที่ติดกับบึงทรายกองดินยังไม่มีหลักหินของทางราชการแสดงแนวเขต เพราะโฉนดที่ดินของโจทก์เป็นโฉนดแบบเก่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงยึดหลักหินเลขที่ บ.0680 และ ง.3122เป็นหลักในการระวังแนวเขตของบึงทรายกองดิน โดยโยงระยะจากหลักหินทั้งสองไปยังด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์โดยถือระยะกว้างของบึงตามแผนที่ระวางเป็นเกณฑ์ไปจดจุดใดก็ถือจุดนั้นเป็นแนวเขตของบึงทรายกองดินด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์ เมื่อโจทก์ชี้แนวเขตที่พิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นที่ดินของโจทก์รุกล้ำเข้าไปในแนวที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ถือเป็นแนวเขตบึงทรายกองดิน ทำให้เนื้อที่ของบึงลดลงเช่นนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงคัดค้านการรังวัดและไม่รับรองแนวเขต เพราะถือว่าโจทก์ชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในบึงทรายกองดิน จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ดูแลที่สาธารณะภายในเขตมีนบุรีรวมทั้งบึงทรายกองดิน และจำเลยนำสืบว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4ปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยที่วางระเบียบปฏิบัติว่า”ถ้าที่ดินฟากตรงข้ามได้มีการปักหลักเขตไว้ก่อนแล้ว ต้องรังวัดยึดโยงหลักเขตให้แผนที่ต่อเชื่อมกันได้” ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3และที่ 4 ระวังแนวเขตบึงทรายกองดินด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์โดยยึดหลักหินเลขที่ บ.0680 และ ง.3022 ซึ่งเป็นหลักเขตของที่ดินฟากตรงข้ามกับด้านที่จะต้องระวังแนวเขตจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและถูกต้องแล้ว การคัดค้านแนวเขตที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและสุจริต จำเลยทั้งสี่มิได้ทำละเมิดสิทธิของโจทก์ ส่วนในปัญหาที่ว่าทนายจำเลยทั้งสี่ได้รับรองแผนที่พิพาทแล้วนั้น เห็นว่า การรับรองดังกล่าวเป็นเรื่องรับรองว่าเจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่ถูกต้องตรงตามที่โจทก์นำชี้เท่านั้น มิใช่รับรองว่าโจทก์ครอบครองที่ดินตามแผนที่ดังกล่าวจริง การสืบพยานของจำเลยทั้งสี่ จึงไม่ใช่เรื่องการสืบพยานแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนที่พิพาทแต่ประการใด
ส่วนปัญหาว่า เอกสาร ล.8, ล.9, ล.10 แบละ ล.11 ซึ่งจำเลยอ้างเป็นเพียงสำเนาภาพถ่ายเอกสารเท่านั้น ไม่ใช่ต้นฉบับเอกสารและผู้ลงชื่อรับรองสำเนาเอกสารก็ไม่ใช่ผู้มีอำนาจรับรองได้ เอกสารดังกล่าวจึงเป็นพยานเอกสารที่รับฟังไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(3) นั้น เห็นว่าคดีนี้เมื่อไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้นฉะนั้น นอกจากเอกสารดังกล่าวแล้วจำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบให้ฟังได้ว่ากระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบปฏิบัติในการระวังแนวเขตที่สาธารณะไว้อย่างไร ดังนั้น แม้เอกสารหมาย ล.8, ล.9,ล.10 และ ล.11 จะรับฟังไม่ได้ แต่พยานบุคคลที่จำเลยนำเข้าสืบฟังได้ว่ากระทรวงมหาดไทยมีระเบียบให้ปฏิบัติในการระวังแนวเขตที่สาธารณะและจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ปฏิบัติตามระเบียบนั้นถูกต้องคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share