คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3028/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เดิมจำเลยมีความผูกพันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 1,000,000 บาท กับรับผิดตามเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่โจทก์จำนวน 500,000 บาท เพื่อเป็นประกันหนี้ของ ส. ต่อมามีการเจรจากันให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เฉพาะตามสัญญากู้ยืมเงิน ส่วนหนี้ตามเช็คพิพาทโจทก์จะไปเรียกร้องจาก ส. เอง ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เพราะไม่ใช่สัญญาระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างผ่อนผันให้แก่กัน แต่ถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง เมื่อจำเลยนำแคชเชียร์เช็คจำนวน 1,000,000 บาท มาชำระแก่โจทก์ ถือว่าเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ด้วยตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 เมื่อโจทก์ได้รับเงินตามแคชเชียร์เช็คแล้ว สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาทจึงระงับไป กรณีดังกล่าวกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิด จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีได้ การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลตามข้อต่อสู้ในคำให้การ จึงไม่ถือว่าเป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันจักต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามมูลหนี้เช็คจำนวน 575,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา พอแปลได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์จำเลยเจรจาตกลงกันโดยโจทก์ตกลงที่จะไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ตามเช็คพิพาทจำนวน 500,000 บาท จากจำเลยเป็นกรณีที่ผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 บัญญัติว่า อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวไม่มีการทำบันทึกข้อตกลงนี้เป็นหนังสือ จำเลยจึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีไม่ได้ มูลหนี้ตามเช็คพิพาทจึงไม่ระงับนั้น การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งศาลชั้นต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 นายสหภัทร์ เจริญยศ ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 500,000 บาท โดยจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 จำนวน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์ไว้ล่วงหน้าเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน นอกจากนี้ ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 จำนวนเงิน 1,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ไว้ล่วงหน้าเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวด้วย ต่อมาโจทก์และจำเลยมีการเจรจากันโดยโจทก์เรียกร้องให้จำเลยรับผิดเพียง 1,000,000 บาท และโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ตามเช็คพิพาทจำนวน 500,000 บาท โดยโจทก์จะไปเรียกร้องจากนายสหภัทร์เอง จำเลยได้ชำระหนี้ด้วยแคชเชียร์เช็คลงวันที่ 29 มีนาคม 2542 รวม 2 ฉบับ เป็นเงิน 1,000,000 บาท ให้โจทก์ โจทก์ได้รับเงินตามแคชเชียร์เช็คดังกล่าวครบถ้วนแล้ว เห็นว่า เดิมจำเลยมีความผูกพันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 1,000,000 บาท กับรับผิดตามเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่โจทก์จำนวน 500,000 บาท เพื่อประกันหนี้ของนายสหภัทร์ ต่อมามีการเจรจาตกลงกันให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เฉพาะตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 1,000,000 บาท ส่วนหนี้ตามเช็คพิพาทนั้น โจทก์จะไปเรียกร้องจากนายสหภัทร์ตามสัญญากู้ยืมเงินเอง ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวนี้ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 เพราะไม่ใช่สัญญาระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีข้อให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างผ่อนผันให้แก่กัน แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง เมื่อจำเลยนำแคชเชียร์เช็คจำนวน 1,000,000 บาท มาชำระให้แก่โจทก์ ถือว่าเป็นชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ด้วยตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 เมื่อโจทก์ได้รับเงินตามแคชเชียร์เช็คดังกล่าวแล้ว สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาทจึงระงับไป กรณีดังกล่าวนี้กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีได้ดังที่โจทก์อุทธรณ์ อนึ่ง การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลตามข้อต่อสู้ในคำให้การดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติมตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร อันจักต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 จำเลยย่อมนำพยานบุคคลมาสืบตามข้อต่อสู้ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share