คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน ให้กับโจทก์และว่าโจทก์เป็นผู้ร้ายลักทรัพย์ ซึ่งศาลได้ตัดสินยกฟ้องในคดีนั้นไปแล้ว จะเป็นผิดฐานละเมิดหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันมาฎีกาต่อไปไม่ได้ตาม ม.219

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแกล้งนำความซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์เป็นคนร้ายลักทรัพย์ของจำเลย และนำเจ้าพนักงานมาจับโจทก์และค้นบ้าน โจทก์ต้องถูกควบคุม ๒ วัน ๑ คืน จึงได้ปล่อยตัวไปและในวันค้นบ้านจำเลยได้กล่าวต่อหน้าชุมชนว่า โจทก์เป็นผู้ร้ายลักทรัพย์ โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงเกียรติคุณความดีเรียกค่าสินไหมทดแทน ๕๐๐ บาท
จำเลยให้การว่าหาได้นำความเท็จไปร้องเรียนไม่ และจำเลยได้ฟ้องโจทก์ว่าลักทรัพย์ตามสำนวนดำที่ ๓๗๕/๒๔๘๖ โจทก์ถูกจับกุมคุมขังโดยอำนาจของพนักงาน จำเลยไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยมีอำนาจร้องทุกข์ได้ และโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า จำเลยแกล้งเอาความที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จไปแจ้งความ จำเลยมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นคนร้าย การถูกควบคุมโดยเจ้าพนักงานปฏิบัติตามกฎหมายเช่นนี้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้ ส่วนข้อหมิ่นประมาทว่าลักทรัพย์ ก็ไม่ได้แกล้งใส่ความโจทก์ จำเลยพูดไปตามปรกติวิสัยผู้เสียหาย พิพากษาต้องกันให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาอ้างเป็นข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดตามกฎหมายแล้ว เพราะศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่ได้ลักทรัพย์จำเลย
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยแจ้งความต่อเจ้าพนักงานให้จับโจทก์ และว่าโจทก์เป็นผู้ร้ายลักทรัพย์ตามฟ้อง จะเป็นการละเมิดหรือไม่นั้น ย่อมต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่พึงปรากฏ ซึ่งในเรื่องนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์เป็นคนร้าย จึงไม่ถือว่าเป็นการละเมิด นับว่าเป็นการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง คดีต้องห้ามตาม ป.ม.วิ.อาญา ม.๒๑๙ ให้ยกฎีกาโจทก์

Share