คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3017/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การให้ถ้อยคำของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้การอย่างไรหรือไม่ให้การก็ได้ ในกรณีที่ผู้ต้องหาให้การเหมือนๆ กันหรือทำนองเดียวกัน บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาย่อมมีโอกาสเหมือนหรือคล้ายกัน และในการทำความเห็นสั่งฟ้องคดี หากพนักงานอัยการเห็นว่าการสอบสวนไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง ย่อมจะส่งสำนวนการสอบสวนกลับไปให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมหรือปฏิบัติเสียใหม่ให้ถูกต้อง ประกอบกับวิทยาการสมัยใหม่ที่เอกสารสอบสวนสองฉบับจะมีข้อความตรงกันย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ลงชื่อในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ย่อมถือว่าการสอบสวนคดีนี้ชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 แต่ตามมาตรา 27 ของกฎหมายใหม่ยังคงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดรับคนต่างด้าวเข้าทำงานเช่นเดียวกันกับกฎหมายเดิม เว้นแต่คนต่างด้าวซึ่งมีใบอนุญาตทำงาน กรณีจึงไม่ถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกความผิดของจำเลยที่ 1 อย่างไรก็ตามโทษปรับในความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน ตามกฎหมายเดิมเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า จึงต้องใช้โทษปรับตามกฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 3
ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ลงโทษปรับ 240,000 บาท และต้องคำพิพากษาในความผิดเดียวกัน ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 22,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี คดีนี้ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ อีก ซึ่งพ้นโทษในคดีก่อนยังไม่ครบ 5 ปี กรณีต้องมีการวางโทษทวีคูณแก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความผิดคดีนี้หลังจากได้ชำระค่าปรับครบถ้วนและพ้นกำหนดรอการลงโทษจำคุกในคดีก่อนที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้วางโทษทวีคูณคดีนี้แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องโทษและได้พ้นโทษในคดีก่อนไปแล้วก่อนที่พระราชบัญญัตินี้จะใช้บังคับและได้รับการล้างมลทินโดยถือว่าจำเลยที่ 1 มิเคยถูกลงโทษในความผิดนี้มาก่อนตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจวางโทษทวีคูณแก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้
ป.อ. มาตรา 29 บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ…” การที่ศาลทรัพย์สินฯ พิพากษาว่า “หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับ” ไปเสียเลย จึงเป็นการบังคับค่าปรับผิดลำดับตามบทกฎหมาย ต้องแก้เป็นว่า หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการ ตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 หากจะกักขังให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2553)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110, 113, 115, 117 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 81 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 5, 7, 22, 34, 39 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 และสั่งริบของกลางทั้งหมด กับวางโทษจำเลยที่ 1 ทวีคูณ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้วางโทษทวีคูณ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพข้อหาเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด และข้อหาเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แต่ให้การปฏิเสธในข้อหาอื่น
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาจำคุก จำเลยที่ 1 6 เดือนและปรับ 200,000 บาทกับมีความผิดฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 22, 39 อีกกระทงหนึ่ง ปรับ 6,000 บาท (ที่ถูก รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 206,000 บาท) ปรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 รวมคนละ 3,000 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 1,500 บาท (ที่ถูก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อหาร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น และข้อหาร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม) จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องขังมาพอแก่โทษให้ปล่อยตัวไปทันที ริบของกลางตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115 เว้นแต่รถยนต์นั่งยี่ห้อเบ็นซ์และรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิไม่ริบ ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ไว้ 1 ปี (ที่ถูก โทษจำคุกให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ไว้ 1 ปี) แต่ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือน ต่อครั้งในระหว่างรอการลงโทษ จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า บันทึกคำให้การของผู้ต้องหาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 ที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้มีข้อความบางตอนเหมือนกันทุกตัวอักษร และมีจำนวนบรรทัดเท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ พฤติการณ์การสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่าวิธีการสอบสวนของพนักงานสอบสวนแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป ผู้ต้องหาจะให้การอย่างไรก็ได้ หรือแม้จะไม่ให้การก็ได้ ในกรณีที่ผู้ต้องหาให้การเหมือนๆ กันหรือทำนองเดียวกัน บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนย่อมมีโอกาสเหมือนหรือคล้ายกันบ้างและในการทำความเห็นพิจารณาสั่งฟ้องคดี หากพนักงานอัยการเห็นว่าการสอบสวนไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง ย่อมจะส่งสำนวนการสอบสวนกลับไปให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมหรือปฏิบัติเสียใหม่ให้ถูกต้องประกอบกับวิทยาการสมัยปัจจุบัน การที่เอกสารสองฉบับจะมีข้อความตรงกันย่อมเกิดขึ้นได้ จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ลงชื่อในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.15 ถือว่าการสอบสวนคดีนี้ชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มีพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับโดยมาตรา 3 ยกเลิกพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 และพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2544 แต่ตามมาตรา 27 ของกฎหมายใหม่ก็ยังคงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดรับคนต่างด้าวเข้าทำงานเช่นเดียวกันกับกฎหมายเก่า เว้นแต่คนต่างด้าวซึ่งมีใบอนุญาตทำงานโดยมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 54 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน กรณีจึงไม่อาจถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และเมื่อความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน ตามมาตรา 22, 39 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของโทษปรับตามกฎหมายใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้โทษปรับตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นคุณกว่าบังคับแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3037/2544 ลงโทษปรับ 240,000 บาท เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2544 และลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 22,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 702/2545 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2545 จำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าในคดีนี้อีกเมื่อพ้นโทษในคดีก่อนยังไม่ครบกำหนด 5 ปี และในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความผิดคดีนี้หลังจากได้ชำระค่าปรับครบถ้วนและพ้นกำหนดรอการลงโทษจำคุกในคดีก่อนที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้วางโทษทวีคูณคดีนี้แล้ว จึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องโทษและได้พ้นโทษในคดีก่อนไปแล้วก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับและได้รับการล้างมลทินโดยถือว่าจำเลยที่ 1 มิเคยถูกลงโทษในความผิดมาก่อนตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมิอาจวางโทษทวีคูณแก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้
ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ…” คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ส่วนนี้จึงเป็นการบังคับค่าปรับผิดลำดับตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
สำหรับของกลางที่เป็นด้าย 4 หลอด เครื่องจักรปั๊มกระดุม 6 เครื่องและจักรเย็บผ้า 4 หลัง มิใช่สินค้าที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกมีไว้เพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115 และมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ทำหรือมีไว้เป็นความผิด หรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32 และ 33 จึงไม่ริบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 จำคุก 3 เดือน และปรับ 100,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานแล้วเป็นจำคุก 3 เดือน และปรับ 106,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 หากจะกักขัง ให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปีไม่ริบของกลางที่เป็นด้าย 4 หลอด เครื่องจักรปั๊มกระดุม 6 เครื่อง และจักรเย็บผ้า 4 หลัง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share