แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ใบแต่งทนายความมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้นาย จ. เป็นทนายความของจำเลยที่ 1 ในคดีเรื่องนี้ และให้มีอำนาจคัดสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 นาย จ. จึงย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นซึ่งรวมถึงการยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลาฎีกาแทนจำเลยที่ 1 เพื่อรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ได้ การยื่นคำร้องดังกล่าวยังไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่เป็นการใช้สิทธิฎีกาซึ่งนาย จ. ไม่มีอำนาจ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 9,873,882.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 5,516,939.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 10 พฤษภาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 55,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,359,589.27 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยโจทก์ยื่นคำแก้ฎีกาคัดค้านฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2550 ซึ่งจำเลยที่ 1 แต่งตั้งนายจงรักษ์ เป็นทนายความนั้น จำเลยที่ 1 ระบุเพียงแต่ให้มีอำนาจคัดสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้ระบุให้มีอำนาจฎีกา นายจงรักษ์จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลาฎีกา เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ทนายความซึ่งคู่ความได้ตั้งแต่งนั้นมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนคู่ความได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ความนั้น…..แต่ถ้า…ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา…ทนายความไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นว่านี้ได้ โดยมิได้รับอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง อำนาจโดยชัดแจ้งเช่นว่านี้ให้ระบุไว้ในใบแต่งทนายสำหรับคดีเรื่องนั้น….” เมื่อพิจารณาใบแต่งทนายความฉบับดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าใบแต่งทนายความมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้นายจงรักษ์เป็นทนายความของจำเลยที่ 1 ในคดีเรื่องนี้ และให้มีอำนาจคัดสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 นายจงรักษ์จึงย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นซึ่งรวมถึงการยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลาฎีกาแทนจำเลยที่ 1 เพื่อรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ได้ การยื่นคำร้องดังกล่าวยังไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่เป็นการใช้สิทธิฎีกาซึ่งนายจงรักษ์ไม่มีอำนาจเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ระบุให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้งดังที่บัญญัติไว้ในบทมาตราดังกล่าว ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาตามคำร้องของนายจงรักษ์ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2550 จึงชอบแล้ว ซึ่งต่อมานายสวัสดิ์ ทนายความจำเลยที่ 1 คนใหม่ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลาฎีกาอีกครั้งหนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 9 เมษายน 2550 จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาโดยทนายความผู้มีอำนาจเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2550 เป็นการยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ฉะนั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 5,190,939.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 10 พฤษภาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ ยกคำร้องของโจทก์ ค่าคำร้องให้เป็นพับ