คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2618/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินภาษีป้ายครั้งแรก แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยกเว้นภาษีในส่วนที่มีภาพเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีจากมิเตอร์หัวจ่าย แต่ให้เรียกเก็บภาษีจากป้ายที่มีข้อความว่า ESSO และป้ายราคาน้ำมัน เป็นป้ายประเภทที่ 2 และให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติม โดยจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายครั้งที่ 2 ให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกการประเมินครั้งแรก ก็ต้องถือว่าโจทก์ยังมีความรับผิดในหนี้ค่าภาษีตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ไม่มีเหตุที่จะทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์เสียไป โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวได้
ป้ายพิพาทเป็นป้ายแสดงประเภท ชนิด และราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าควบคุม ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 54) และประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด (ฉบับที่ 200 และฉบับที่ 249) ป้ายดังกล่าวจึงไม่ใช่ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ภาษีป้ายฯ มาตรา 6 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้าย
แม้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยกเว้นภาษีป้ายในส่วนที่มีภาพเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีจากมิเตอร์หัวจ่าย แต่ไม่คืนเงินในส่วนนี้ให้โจทก์ กลับนำไปหักออกจากค่าภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มเติมซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินให้โจทก์ 1,464 บาท แต่กรณีที่โจทก์ขอให้คืนเงิน 35,016 บาท ที่โจทก์ได้ชำระไปตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการประเมินครั้งที่สอง ให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม 35,016 บาท และโจทก์ได้ชำระเงินไปแล้วก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินครั้งที่สอง กรณีจึงไม่อาจคืนเงินให้แก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 41/49, 40/49, 39/49, 38/49, 27/49, 34/49, 29/49 และ 28/49 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 51,064 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายเลขที่ 27/49, 34/49, 34/49 (ที่ถูก 29/49) และ 28/49 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่ให้ประเมินป้ายราคาน้ำมันซึ่งติดตั้งที่สถานีบริการน้ำมันเลขที่ 123 หมู่ที่ 3 ถนนติวานนท์ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี กับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษี 1,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายสำหรับกรณีสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 50/1192 ประจำปี 2545 ถึงปี 2548 ครั้งแรก ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 จำนวน 4 ฉบับแล้ว และยังไม่มีการยกเลิกการประเมินดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่พอใจย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินต่อจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 30 ได้ เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินภาษีป้ายครั้งแรกในรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเฉพาะในส่วนที่มีเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย และป้ายราคาน้ำมันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินให้เสียภาษีป้ายปีละ 366 บาท แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ที่วินิจฉัยให้ยกเว้นไม่ต้องประเมินภาษีป้ายดังกล่าวในส่วนที่มีภาพเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่ายและให้เรียกเก็บภาษีป้ายในส่วนที่มีข้อความ “ESSO” และป้ายราคาน้ำมันเพิ่มเติมจากโจทก์เป็นเงิน 40,776 บาท และพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายครั้งที่สอง ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว แล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 จำนวน 4 ฉบับ ก็ต้องถือว่าโจทก์ยังมีความรับผิดในหนี้ค่าภาษีตามการประเมินดังกล่าวในส่วนที่ไม่มีการยกเว้นตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์และไม่มีเหตุที่จะทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ต้องเสียไป โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 33 ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแจ้งการประเมินฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 จำนวน 4 ฉบับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ในรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 50/1192 ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ในรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 50/1192 โจทก์ต้องเสียภาษีป้ายในส่วนแสดงราคาน้ำมันหรือไม่ และจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า ป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันในส่วนที่แสดงราคาน้ำมันเป็นป้ายที่แสดงประเภท ชนิด และราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าควบคุม ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 54) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย การออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร และการเก็บรักษารายงานตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 7 กับประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 200 พ.ศ. 2535 เรื่อง ให้ผู้จำหน่ายปลีกแสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าควบคุม ลงวันที่ 10 กันยายน 2535 และฉบับที่ 249 พ.ศ. 2541 ลงวันที่ 23 เมษายน 2541 ป้ายดังกล่าวจึงไม่ใช่ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 6 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายในส่วนนี้ แม้ในส่วนที่แสดงราคาน้ำมันดังกล่าวจะอยู่ใต้ส่วนที่มีข้อความ “ESSO” และอยู่ในโครงสร้างเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อป้ายในส่วนนี้ไม่ใช่ป้ายตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 6 จึงไม่อาจนำไปคำนวณรวมกับป้ายในส่วนที่มีข้อความ “ESSO” เพื่อประเมินให้เสียภาษีป้ายได้อีก การประเมินให้เสียภาษีป้ายในป้ายราคาน้ำมันและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่วินิจฉัยให้เสียภาษีป้ายในป้ายราคาน้ำมันและเปลี่ยนแปลงขนาดป้ายจึงไม่ชอบ
นอกจากนี้แม้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยให้ยกเว้นไม่ต้องประเมินภาษีป้ายในส่วนของเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย ทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดค่าภาษีตามการประเมินในส่วนนี้ก็ตาม แต่เมื่อตามคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้คืนเงินในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ แต่กลับนำเงินในส่วนนี้ไปหักออกจากค่าภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มเติมซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินในกรณีที่โจทก์ได้ชำระภาษีตามการประเมินภาษีในรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันในส่วนที่มีภาพเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย และป้ายราคาน้ำมันให้เสียภาษีป้ายปีละ 366 บาท รวม 4 ปีภาษี เป็นเงิน 1,464 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ แต่สำหรับกรณีที่โจทก์ขอให้คืนเงินจำนวน 35,016 บาท ที่โจทก์ได้ชำระไปตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 และตามการประเมินครั้งที่สองเลขที่ 59/49 ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 นั้น เห็นว่า ลำพังเพียงคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่วินิจฉัยให้โจทก์จ่ายค่าภาษีป้ายเพิ่มจากรายการในการประเมินครั้งแรกเป็นเงิน 35,016 บาท ไม่ทำให้โจทก์มีความรับผิดในหนี้ค่าภาษีเพิ่มเติมตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์แต่อย่างใด และถึงแม้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายครั้งที่สองเลขที่ 59/49 ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมเป็นเงิน 35,016 บาท แผ่นที่ 30 และโจทก์ได้ชำระเงินไปตามการประเมินให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมแล้วก็ตาม แต่ในคดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมฉบับเลขที่ 59/49 กรณีจึงไม่อาจคืนเงินตามการประเมินในส่วนนี้จำนวน 35,016 บาท ให้แก่โจทก์ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วนกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ประเด็นอื่นของโจทก์ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 41/49, 40/49, 39/49 และ 38/49 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ให้ยกเว้นไม่ต้องประเมินป้ายราคาน้ำมันรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 50/1192 หมู่ที่ 9 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ให้โจทก์เสียภาษีป้ายในรายการป้ายใหญ่ประจำปี 2545 ถึงปี 2548 รวมเป็นเงิน 15,040 บาท และให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 1,464 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share