คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3016/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม บทบัญญัติมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างด้วย เหตุอันใดนายจ้างจะต้องได้ รับอนุญาตจากศาลแรงงานเสียก่อนเสมอจึงจะเลิกจ้างได้ จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ร่วมซึ่ง เป็นกรรมการลูกจ้าง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2529 โดย มิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานกลางก่อนเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 ต้อง รับโทษตาม มาตรา 143 และต้องถือ ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ วันดังกล่าว แม้ต่อมาภายหลังจำเลยทั้งสองจะยื่นคำร้องต่อ ศาลแรงงานกลางขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ร่วมและศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ร่วมโดย ให้มีผลย้อนหลังไปถึง วันที่ 19 พฤษภาคม 2529 ก็ตาม ก็ไม่มีผลให้การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เป็นความผิดอยู่แล้วกลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิดไปได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 45, 52, 143 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งอสฝมีความผิดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52, 143 จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคล จึงไม่อาจบังคับโทษจำคุกได้ ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 52 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง…คณะกรรมการลูกจ้าง…เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน” ตามบทบัญญัติของมาตรานี้ไม่ว่ากรณีจะเป็นการเลิกจ้างจากเหตุอันใดสำหรับกรรมการลูกจ้างแล้ว นายจ้างจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเสียก่อนเสมอจึงจะเลิกจ้างได้ ตามข้อเท็จจริงที่ยุติแล้ว จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ร่วมซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง เมื่อวันที่ 19พฤษภาคม 2529 โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานกลางก่อน จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ ต้องรับโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 143 และต้องถือว่าการกระทำของจำเลยเกิดเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2529 อันเป็นวันเลิกจ้างซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อมีการกระทำผิดสำเร็จแล้ว ผู้กระทำไม่อาจจะแก้ไขการกระทำที่ล่วงพ้นไปแล้วอันเป็นความผิดให้มิใช่เป็นการกระทำผิดได้ ที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ร่วมกับพวก ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างเมื่อวันที่ 29พฤษภาคม 2529 เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากที่จำเลยทั้งสองได้กระทำการอันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ถึงแม้ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ร่วมกับพวกโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2529 อันเป็นวันที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดสำเร็จก็ไม่มีผลให้การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เป็นความผิดอยู่แล้วกลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นผิดไปได้ เพราะในวันที่มีการเลิกจ้างนั้น ต้องถือตามความเป็นจริงว่า ยังไม่มีการขออนุญาตศาลแรงงานกลางหรือคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างของศาลแรงงานกลางอยู่เลย จำเลยทั้งสองจะนำเอาคำสั่งของศาลแรงงานกลางมาอ้างให้พ้นผิดไม่ได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น.

Share