คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การนำสืบพยานบุคคลถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าเพราะเหตุใดจึงมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน ไม่ใช่การนำสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง
ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้ระบุที่ดินอีก 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 ที่ดินโฉนดเลขที่ 140868 ที่ดินโฉนดเลขที่ 134895 ที่ดินโฉนดเลขที่ 19465 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 757 แต่ละรายการออกครึ่งหนึ่ง และกำจัดจำเลยมิให้ได้มรดก โดยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้โจทก์โดยปลอดภาระติดพัน หากจำเลยไม่แบ่งแยก หรือแบ่งไม่ได้ หรือไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ ให้นำที่ดินทั้งหมดออกขายทอดตลาดนำเงินครึ่งหนึ่งมาแบ่งให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 ตำบลบางแคเหนือ (หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นเลขที่ 604/211 หมู่ที่ 3 แขวงบางแคเหนือ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 757 ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ให้แก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วนโดยปลอดภาระติดพัน หากจำเลยไม่ไปทำการแบ่งหรือแบ่งไม่ได้ หรือไม่สามารถโอนได้ให้นำที่ดินออกขายนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 ตำบลบางแคเหนือ (หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 604/211 หมู่ที่ 3 แขวงบางแคเหนือ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์หนึ่งในแปดส่วนโดยปลอดภาระติดพัน ส่วนวิธีการแบ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินในศาลชั้นต้น 19,896 บาท และชั้นอุทธรณ์ 24,718 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่ศาลสั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า นางขนิษฐา โจทก์ และนายสุรเดช เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสาวอรนุช ผู้ตาย นายสุรเดชและบิดามารดาของผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ผู้ตายและจำเลยรับราชการเป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ตายได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างศึกษาอยู่นั้นผู้ตายเดินทางกลับมาประเทศไทยและจดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 ตามสำเนาใบสำคัญการสมรสแล้วกลับไปศึกษาต่อ ผู้ตายเดินทางกลับมาประเทศไทยและพักอาศัยอยู่กับจำเลยตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2537 ไม่มีบุตรด้วยกัน ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2547 ตามสำเนามรณบัตร จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งธนบุรีตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยระบุในคำร้องขอว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกรวม 7 รายการ ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์ได้รับแบ่งมรดกของผู้ตายจากจำเลยเป็นเงิน 210,547 บาท ตามสำเนาสัญญาการรับทรัพย์สินจากกองมรดกผู้ตาย นอกจากทรัพย์สินตามสำเนารายการทรัพย์สินของผู้ตาย ผู้ตายกับจำเลยยังมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 ตำบลบางแคเหนือ (หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 18 ตารางวา พร้อมทาวน์เฮาส์ เลขที่ 604/211 หมู่ที่ 3 แขวงบางแคเหนือ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร โดยร่วมกันซื้อมาก่อนสมรส ส่วนจำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 140868 ตำบลบางแคเหนือ อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 134895 ตำบลบางแคเหนือ อำเภอบางแค (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 198 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 19465 ตำบลบ้านช้าง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 57 ตารางวา และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 757 ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ 5 ไร่ 80 ตารางวา ที่ดินทั้งสี่แปลงนี้จดทะเบียนโอนเป็นชื่อจำเลยในระหว่างสมรสกับผู้ตาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 140868, 134895 และ 19465 เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยนำสืบพยานจำเลยปากนายชุ่มและพยาน ดังกล่าวไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขายที่ดิน ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับที่ได้วินิจฉัยในฎีกาตอนแรกแล้ว จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 พร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 604/211 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 757 เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้ตายและจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าว ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิมดังที่โจทก์ฎีกานั้น แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงต้องเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายและจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้นเมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายและจำเลยมีอยู่ก่อนสมรสจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายและจำเลยฝ่ายละครึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายและจำเลยร่วมกันกู้เงินในการซื้อตอนแรกก่อนการสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เห็นว่า เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายและจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายและจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรสดังที่โจทก์ฎีกามาแต่อย่างใด ดังนั้นจึงรับฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 พร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 604/211 เป็นสินส่วนตัวโดยเป็นกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายและจำเลยจึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 757 เป็นสินส่วนตัวของจำเลย ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของผู้ตายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยปิดบังทรัพย์สินที่ดิน 5 แปลง โดยไม่ระบุไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก แสดงต่อศาลประกอบคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและไม่แสดงต่อทายาทอื่นรวมทั้งโจทก์ จำเลยจึงสมควรถูกกำจัดมิให้รับมรดกทรัพย์ที่ปิดบังไว้ดังกล่าวนั้น เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด การที่จำเลยไม่ได้ระบุทรัพย์สินที่ดิน 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share