คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1426/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม ประกาศ กระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45สิทธิของลูกจ้างที่จะได้ รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเกิดขึ้นเมื่อถูก เลิกจ้าง ฉะนั้นการคำนวณค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จึงต้อง คิดจากอัตราค่าจ้างขณะเลิกจ้าง ดังนี้การนำค่าครองชีพรวมกับเงินเดือนของลูกจ้างมาคำนวณค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จึงชอบแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจเดิมชื่อองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต่อมาปี พ.ศ. 2522 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยใช้ชื่อย่อว่า ททท. จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่า โจทก์ครบเกษียณอายุ60 ปี ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงโจทก์ยังมีอายุไม่ครบ60 ปีบริบูรณ์ โจทก์มีอายุเพียง 54 ปี การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตกงานและขาดรายได้ประจำรวมเป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับ 2,898,491.38 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยรับโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยมีเงินเดือนเดือนละ 13,800 บาท เข้าทำงานเมื่อปี พ.ศ. 2506โจทก์อายุ 60 ปีแล้ว สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้อง จำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะไม่ได้เกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์เพราะโจทก์เกษียณอายุ ขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ อันเป็นผลของกฎหมายมหาชน จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าชดเชยจำนวน 151,440 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 26,400 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม1,812,040 บาท ส่วนเงินบำเหน็จนั้นจำเลยต้องรับผิดไม่เกิน371,945.67 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 19 วันหากจะได้รับไม่เกิน 8,740 บาท ค่าจ้างเดือนมกราคม 2532 จำนวน 11วัน คิดเป็นเงิน 5,179 บาท
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2469 ซึ่งครบเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2529 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2532 ถือว่าเลิกจ้างเพราะเหตุโจทก์ครบเกษียณอายุ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จึงไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือใช้ค่าเสียหายการขึ้นเงินเดือนแก่ลูกจ้างเป็นสิทธิของนายจ้างที่จะพิจารณาให้ตามผลงานของลูกจ้างเหตุที่โจทก์ไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนเนื่องจากทำงานไม่ได้ระดับที่สมควรจะขึ้นเงินเดือน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินเดือนส่วนที่ไม่ได้ขึ้น โจทก์ได้รับเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ13,800 บาท และค่าครองชีพอีกเดือนละ 800 บาท รวมเป็นค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 14,600 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์วันที่ 12 มกราคม2532 และยังค้างค่าจ้างโจทก์ 11 วัน คิดเป็นเงิน 5,353.33 บาทการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ยังมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีอีก 19 วันจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าว โดยคิดจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่โจทก์ได้รับเดือนละ 14,600 บาทคิดเป็นเงิน 9,246.67 บาท โจทก์มีอายุงาน 25 ปี 8 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 14,600 บาทคูณด้วย 26 เป็นเงิน 379,600 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ถือว่าเป็นนายจ้างด้วย จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แต่ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 5,353.33 บาทค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 9,246.67 บาท และค่าชดเชยจำนวน 87,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 12 มกราคม2532) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระเงินบำเหน็จจำนวน 379,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 14กุมภาพันธ์ 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในหนี้ทั้ง 4 จำนวนดังกล่าวเป็นการส่วนตัว คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลางคำนวณค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ถูกต้องเพราะในปี พ.ศ. 2530 และ 2531 โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ 13,800 บาท ไม่มีค่าครองชีพ ซึ่งค่าครองชีพเริ่มใช้เมื่อเดือนมกราคม 2532 การที่นำค่าครองชีพไปรวมคำนวณจึงไม่ถูกต้อง โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 8,740 บาท เท่านั้น ข้อนี้เห็นว่า สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเกิดขึ้นเมื่อถูกเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45การคำนวณค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงต้องคิดจากอัตราค่าจ้างขณะเลิกจ้าง ขณะถูกเลิกจ้างโจทก์มีสิทธิได้รับค่าครองชีพอีก800 บาท การที่ศาลแรงงานกลางนำค่าครองชีพมารวมกับเงินเดือนของโจทก์มาคำนวณค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share