คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3016/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 52 นั้น นายจ้างจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนเสมอจึงจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ ทั้งนี้ไม่ว่ากรณีจะเป็นการเลิกจ้างจากเหตุอันใด การที่ต่อมาศาลแรงงานกลางอนุญาตให้เลิกจ้างในภายหลังและให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันเลิกจ้างนั้นไม่มีผลให้จำเลยพ้นผิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของนายฉลอง ขอมงคลธารากุลนายวิรัช กมลวิทย์ นายเดชา ขู่วิชัย นายจิตติ พูลศิริ นายวีระชายหัตถประเสริฐ นายวีระชาติ แซ่สอ นายฉลาด ยุคุณธร นายอวยชัยองค์วิมลการ นายไพสิธ อรุณรัตน์ และนายดวน ชำนาญนา ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างของบริษัทอ่าวขามไทย จำกัด จำเลยที่ 2 เป็นายจ้างของนายปรีชาตั้งทับสุนทร ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ จำกัดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2529 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ได้ร่วมกันเลิกจ้างนายฉลอง ขอมงคลธารากุล กับพวกดังกล่าวทั้ง 11 คนซึ่งเป็นคณะกรรมการลูกจ้างของจำเลยทั้งสองโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน เหตุเกิดที่ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 45,52, 143 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยทั้งสองประกาศปิดกิจการซึ่งกระทำถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงาน สำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองประกาศให้ทราบว่า จะอนุมัติดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายซึ่งหมายความว่าจำเลยทั้งสองจะยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต่อไป ประกาศเลิกจ้างของจำเลยทั้งสองเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างเหมืองแร่ดีบุกทางทะเลทั้งหมด รวมทั้งกรรมการลูกจ้างโดยประกาสเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2529 แต่ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 19พฤษภาคม 2529 ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างกรรมการลูกจ้างยื่นคำคัดค้าน ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2529 อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2529จำเลยทั้งสองหาได้เลิกจ้างกรรมการลูกจ้างในวันที่ 19 เมษายน 2529โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานไม่
ระหว่างพิจารณา นายฉลอง ขอมงคลธารากุล นายวิรัช กมลวิทย์นายเดชา ขู่วิชัย นายจิตติ พูลศิริ นายวีระชาย หัตถประเสริฐนายวีระชาติ แซ่สอ นายอวยชัย องค์วิมลการ นายดวน ชำนาญนา กรรมการลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นายปรีชา ตั้งทับสุนทร กรรมการลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เสียหายร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 มาตรา143 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคล จึงไม่อาจบังคับโทษจำคุกได้ ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 500 บาท ปรับจำเลยที่ 2เป็นเงิน 500 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ได้ความเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมทุกคนเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง โดยโจทก์ร่วมที่ 9 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2โจทก์ร่วมอื่นเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในขณะเกิดเหตุคดีนี้โจทก์ร่วมทุกคนเป็นกรรมการลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2529 จำเลยทั้งสองได้แจ้งการเลิกจ้างลูกจ้างของจำเลยทั้งสองรวมทั้งโจทก์ร่วมด้วยว่า จำเลยทั้งสองจำเป็นต้องปิดกิจการ และเลิกจ้างลูกจ้างโดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2529 โดยจำเลยทั้งสองมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานกลางให้เลิกจ้างโจทก์ร่วมซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างก่อน จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ร่วมซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2529ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ร่วมได้โดยให้การเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2529 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้องหรือไม่เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 บัญญัติว่า”ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง…คณะกรรมการลูกจ้าง…เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน” ตามบทบัญญัติของมาตรานี้ไม่ว่ากรณีจะเป็นการเลิกจ้างจากเหตุอันใดสำหรับกรรมการลูกจ้างแล้วนายจ้างจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเสียก่อนเสมอจึงจะเลิกจ้างได้ ตามข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ร่วมซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2529 โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานกลางก่อน จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ต้องรับโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 143 และต้องถือว่าการกระทำของจำเลยเกิดเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2529 อันเป็นวันเลิกจ้างซึ่งความผิดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป้นความผิดอันยอมความได้ เมื่อมีการกระทำผิดสำเร็จแล้วผู้กระทำไม่อาจจะแก้ไขการกระทำที่ล่วงพ้นไปแล้วอันเป็นความผิดให้มิใช่เป็นการกระทำผิดได้ ที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลาง ขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ร่วมกับพวกซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างเมื่อวันที่ 29พฤษภาคม 2529 เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากที่จำเลยทั้งสองได้กระทำการอันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ถึงแม้ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ร่วมกับพวกโดยมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2529 อันเป็นวันที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดสำเร็จก็ไม่มีผลให้การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เป็นความผิดอยู่แล้วกลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นผิดไปได้ เพราะในวันที่มีการเลิกจ้างนั้นต้องถือตามความเป็นจริงว่า ยังไม่มีการขออนุญาตศาลแรงงานกลางหรือคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างของศาลแรงงานกลางอยู่เลย จำเลยทั้งสองจะนำเอาคำสั่งของศาลแรงงานกลางมาอ้างให้พ้นผิดไม่ได้ และมีศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ร่วมซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง โดยให้คำสั่งอนุญาตของศาลแรงงานกลางมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีการเลิกจ้างกันจริง ไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52, 143 ตามฟ้องโจทก์นั้น ถ้าแปลบทบัญญัติมาตรา 52 ไปดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วนางจ้างก็จะสามารถเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ทุกกรณีทันทีตามอำเภอใจของนายจ้าง และอาจถือเอาการเลิกจ้างเป็นเหตุบีบบังคับกรรมการลูกจ้างจนไม่อาจทำหน้าที่โดยอิสระตามความมุ่งหมายของกฎหมายนี้ ที่กำหนดให้มีกรรมการลูกจ้างขึ้นในสถานประกอบกิจการ ทั้งจะไม่มีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52ได้เลย เพราะถ้านายจ้างสามารถขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต่อศาลแรงงานภายหลังได้หลังจากที่เลิกจ้างไปจริง ๆ แล้ว นายจ้างก็อาจมาขออนุญาตได้ตลอดเวลากรณีที่จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 52จึงไม่เป็นการแน่นอนว่ามีขึ้นเมื่อใด การปกป้องคุ้มครองกรรมการลูกจ้างตามที่กฎหมายบัญญัติก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้…”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น.

Share