คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3012/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้ระบุอ้างเอกสารไว้ในบัญชีพยานโดยชอบแล้ว แต่มิได้ยื่นเอกสารนั้นต่อศาล และส่งสำเนาให้แก่โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าสามวัน จำเลยเพิ่งส่งต้นฉบับต่อศาลในวันสืบพยานโจทก์ระหว่างตัวโจทก์เบิกความและส่งสำเนาให้แก่โจทก์ในวันนั้น เมื่อเอกสารฉบับนี้เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีและศาลชั้นต้นเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานเอกสารฉบับนี้โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติของมาตรา 87(2) แล้ว ศาลก็มีอำนาจรับฟังพยานเอกสารฉบับนี้ได้โดยไม่จำต้องปรากฏว่าจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลตามมาตรา 90(3) เสียก่อน เพราะมาตรา 90(3) เป็นเพียงข้อยกเว้นของความในวรรคแรกแห่งมาตรา 90 มิใช่เป็นบทจำกัดอำนาจที่ศาลมีอยู่ตามมาตรา 87(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างให้โจทก์ถมที่ดินของจำเลยโดยคิดค่าจ้างเหมาเป็นรายรถ ๆ ละ 60 บาท เมื่อจำเลยเห็นว่าพอแก่ความต้องการก็จะบอกให้หยุดถมโจทก์ได้ถมที่ให้จำเลยได้รวม 371 คันรถ จำเลยสั่งให้โจทก์หยุดถมอ้างว่าโจทก์ทำการชักช้า โจทก์ขอคิดค่าจ้างตามสัญญาโดยหักเงินที่รับล่วงหน้าไปแล้วคงเหลือค่าจ้างที่ค้าง 17,428 บาท 25 สตางค์ จำเลยรับรองจะจ่ายให้ แต่แล้วก็ผัดชำระ ที่สุดได้บอกเลิกสัญญาโดยหาว่าโจทก์ผิดนัดถมที่ดินไม่เสร็จตามสัญญา ไม่ชำระเงินค่าจ้างที่ติดค้าง จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงิน 17,428.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ไม่ได้จ้างกันเป็นคันรถ แต่จ้างเหมาโจทก์ถมดินเป็นเงินทั้งสิ้น 10,000 บาท ตกลงกันว่าจะต้องทำงานให้เสร็จภายใน 1 เดือน นับแต่วันเริ่มถม โจทก์ถมไปบ้างแล้วหยุด ต่อมาก็ทิ้งงานเพราะขาดทุน โจทก์เบิกเงินสำหรับงานที่ทำไปแล้ว 4,831.75 บาท การที่โจทก์ผิดสัญญาทำให้จำเลยเสียหายต้องจ้างคนอื่นมาถมเป็นเงิน 12,000 บาท หักเงิน 4,831.75 บาทออกแล้วคงเป็นเงิน 7,168.25 บาท และเป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจปลูกสร้างบ้านและทำอู่ซ่อมรถซึ่งโจทก์ทราบดีแล้ว ขาดรายได้วันละ 200 บาท ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 22,600 บาท รวมค่าเสียหายที่โจทก์ต้องใช้จำเลยเป็นเงิน 29,768.25 บาท ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายดังกล่าว

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าไม่เป็นความจริง โจทก์ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าจ้างคนอื่นถมดิน เพราะมิได้จ้างกันจริง ฟ้องแย้งเคลือบคลุมและไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งไม่เคลือบคลุมและเกี่ยวกับฟ้องเดิมการถมดินเป็นการจ้างเหมากำหนดเวลาให้ทำเสร็จภายใน 1 เดือน โจทก์ผิดสัญญา แต่จำเลยเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้งไม่ได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย

โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์ขอให้บังคับตามฟ้องแย้ง

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งไม่เคลือบคลุมและเกี่ยวกับฟ้องเดิม โจทก์รับจ้างจำเลยเหมาถมที่ดินมีกำหนดเวลาทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน โจทก์ผิดสัญญาค่าเสียหายที่จำเลยจ้างคนอื่นถมดินเรียกได้ ค่าเสียหายที่จำเลยไม่ได้ปลูกบ้านและทำอู่ซ่อมรถจำเลยสืบไม่ได้ว่าโจทก์ได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นเช่นนั้นล่วงหน้า ศาลชั้นต้นรับฟังเอกสารหมาย ล.1 ไม่ผิดกฎหมาย พิพากษาแก้เป็นให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 7,168.25 บาทให้จำเลย

โจทก์ฎีกาว่า จำเลยจ้างโจทก์ถมที่เป็นรายรถ ไม่ใช่การจ้างเหมา โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหาย ศาลล่างทั้งสองรับฟังเอกสารหมาย ล.1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเอกสารหมาย ล.1ชอบด้วยหรือไม่ ว่าตามสำนวนปรากฏว่าเอกสารหมาย ล.1 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2514 ซึ่งมีใจความว่าโจทก์ได้รับเหมาถมที่ของจำเลยเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 10,000 บาทนั้น จำเลยได้ระบุไว้ในบัญชีพยานโดยชอบแล้ว แต่มิได้ยื่นต่อศาลและส่งสำเนาให้แก่โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าสามวัน จำเลยเพิ่งส่งต้นฉบับต่อศาลในวันสืบพยานโจทก์ระหว่างตัวโจทก์เบิกความและส่งสำเนาให้แก่โจทก์ในวันนั้นซึ่งโจทก์ก็ได้แถลงคัดค้านไว้ในวันนั้นเองมิให้ศาลรับฟัง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่ … ฯลฯ …. (2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 และ 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้”

ข้อความในเอกสารหมาย ล.1 นี้ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพราะคดีนี้โจทก์จำเลยโต้เถียงกันประเด็นที่ปรากฏในการชี้สองสถานของศาลชั้นต้นว่า ” (1) ค่าจ้างกำหนดราคาไว้เป็นรายรถที่ใช้บรรทุกหรือราคาเหมา และได้กำหนดเวลาไว้ให้โจทก์ทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน ด้วยหรือไม่” การที่ศาลชั้นต้นจดแจ้งไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 22 กันยายน 2514 ซึ่งเป็นวันสืบพยานโจทก์ว่า … ฯลฯ ….จำเลยส่งเอกสาร 1 ฉบับ ศาลหมาย ล.1 ให้แยกเก็บ …. ฯลฯ ” ทั้ง ๆ ที่โจทก์ก็คัดค้านอยู่นั้น แสดงว่าศาลชั้นต้นเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานเอกสารฉบับนี้โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติของมาตรา 87 (2) อยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่ศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบเอกสารฉบับนี้ไว้ในคำพิพากษา และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยไว้ในทำนองเดียวกัน ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90(3) ที่บัญญัติว่า “ถ้าการคัดสำเนาเอกสารจะทำให้กระบวนพิจารณาล่าช้าเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความซึ่งอ้างอิงเอกสารหรือมีเหตุผลแสดงว่าไม่อาจคัดสำเนาเอกสารให้เสร็จภายในกำหนดเวลาที่ให้ยื่นหรือส่งเอกสารนั้น คู่ความฝ่ายซึ่งอ้างอิงเอกสารอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลขออนุญาตงดการยื่นหรือส่งสำเนาเอกสารนั้นตามที่บัญญัติไว้ข้างต้น และขอยื่นต้นฉบับเอกสารแทนเพื่อให้ศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตรวจดูตามเงื่อนไขที่ศาลเห็นสมควรกำหนด” นั้น เป็นแต่เพียงข้อยกเว้นของความในวรรคแรกแห่งมาตรา 90 นั้นเองเท่านั้น หาใช่เป็นบทจำกัดอำนาจที่ศาลมีอยู่ตามมาตรา 87(2) ไม่ ฉะนั้น ศาลจึงมีอำนาจรับฟังเอกสารหมาย ล.1 ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 87(2) ได้โดยไม่จำต้องปรากฏว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามมาตรา 90(3)

ส่วนการถมที่ดินเป็นการจ้างเหมาหรือจ้างเป็นรายคันรถ และค่าเสียหายมีเพียงใด เห็นพ้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

พิพากษายืน

Share