คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่าโจทก์ยังมิได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าติดตามรถยนต์คันที่เช่าซื้อนั้นจำเลยให้การแต่เพียงว่ารถยนต์มีสภาพเก่าและโจทก์มิได้ประสงค์จะให้ผู้ใดเช่าจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ส่วนค่าติดตามรถยนต์จำเลยเป็นผู้แจ้งโจทก์ให้ไปรับรถยนต์เองมิใช่กรณีที่โจทก์ติดตามยึดนั้นจำเลยมิได้ให้การว่าสัญญายังมิได้เลิกกันโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจำเลยจึงไม่มีสิทธิยกประเด็นดังกล่าวขึ้นฎีกาได้เพราะเป็นข้อฎีกาที่นอกเหนือจากคำให้การของจำเลยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าค่าขาดประโยชน์ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดสูงเกินไปนั้นเมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000บาทฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ในราคา 142,020 บาท ตกลงผ่อนชำระงวดละเดือน เดือนละ 3,945 บาท รวม 36 งวด เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 10 สิงหาคม 2532 และงวดต่อ ๆ ไป ทุก ๆ วันที่ 10ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดสองคราวติด ๆ กันหรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และจำเลยที่ 1มีหน้าที่จะต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้หรือคืนในสภาพไม่เรียบร้อยจะต้องชดใช้ราคาทรัพย์สินเต็มจำนวนพร้อมทั้งค่าเสียหาย โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระตามสัญญานับแต่งวดที่ 22 ประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นมาและผิดนัดติดต่อกันสองคราวตลอดมาถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีโดยมิต้องบอกกล่าว เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วจำเลยที่ 1ยังคงครอบครองใช้รถยนต์ของโจทก์จนประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2536โจทก์ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมาได้ในสภาพเสื่อมโทรมโดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 2,950 บาท และนำออกขายทอดตลาดได้เพียง 56,500 บาท การที่จำเลยทั้งสองยังคงครอบครองใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อในระหว่างผิดนัดจนถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์กลับคืนมาเป็นเวลา 20 เดือน ถ้ารถยนต์อยู่ในความครอบครองของโจทก์สามารถนำออกหาประโยชน์หรือให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 60,000 บาท และทำให้รถยนต์อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเป็นสาเหตุที่ทำให้โจทก์ขายได้ราคาเพียง56,500 บาท ซึ่งหากอยู่ในสภาพดีจะขายได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทซึ่งโจทก์ขอคิดค่าเสื่อมราคา 40,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น102,950 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 102,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นราคาที่รวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้รวมอยู่ด้วย ราคาที่แท้จริงไม่เกิน 80,000 บาท และเป็นรถยนต์ที่อยู่ในสภาพเก่าจึงไม่มีใครที่จะมาเช่า โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ ค่าเสื่อมราคาจำนวน 40,000 บาท นั้น ขาดอายุความแล้ว โจทก์ยินยอมรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อจำนวน2,950 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้องโจทก์
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 62,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่าโจทก์ยังมิได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าติดตามรถยนต์คันที่เช่าซื้อนั้นพิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 2 ให้การแต่เพียงว่ารถยนต์มีสภาพเก่าและโจทก์มิได้ประสงค์จะให้ผู้ใดเช่า จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ ส่วนค่าติดตามรถยนต์จำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้งโจทก์ให้ไปรับรถยนต์เองมิใช่กรณีที่โจทก์ติดตามยึด เห็นว่า จำเลยที่ 2มิได้ให้การว่าสัญญายังมิได้เลิกกัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยกประเด็นดังกล่าวขึ้นฎีกาได้เพราะเป็นข้อฎีกาที่นอกเหนือจากคำให้การของจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าค่าขาดประโยชน์ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดสูงเกินไปนั้น เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน
พิพากษายก ฎีกา จำเลย ที่ 2

Share