คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3003/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างได้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้เก้าอี้และใช้ของแข็งตีทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 ถูกบริเวณร่างกายทำให้ได้รับบาดเจ็บอย่างไรบ้าง เช่นนี้ เพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ต้องเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาในคดีนี้จะพิพากษายกฟ้องจำเลยคนหนึ่งซึ่งอุทธรณ์หรือฎีกาเพียงผู้เดียวใช้อำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยอื่นที่ไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกามิให้ต้องถูกรับโทษเช่นเดียวกับจำเลยผู้อุทธรณ์หรือฎีกา แต่การที่ผู้ร่วมกระทำผิดถูกแยกฟ้องเป็นหลายคดี การที่พยานหลักฐานโจทก์เพียงพอจะรับฟังลงโทษจำเลยคนใดที่ร่วมกระทำผิดได้หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยแต่ละคนเป็นการเฉพาะตัวเป็นราย ๆ ไปเฉพาะคดีนั้น ๆ ซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์อาจพาดพิงถึงจำเลยแต่ละคดีมากน้อยต่างกันได้ คดีที่พยานโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอก็ลงโทษไป คดีที่พยานโจทก์มีน้ำหนักเบาบางก็ต้องยกฟ้องตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากทางนำสืบเป็นรายคดี

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกจำเลยสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2537 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสองกับพวกหลายคนได้ร่วมกันใช้เก้าอี้จำนวนหลายตัวและใช้ของแข็งไม่ทราบชนิดและขนาดแน่นอนตีทำร้ายร่างกายจ่าสิบเอกพิทักษ์ ช่างดวงจิตต์ ผู้เสียหายที่ 1 และนายไวพจน์ คงพันธ์ ผู้เสียหายที่ 2 ถูกที่บริเวณร่างกายคนละหลายครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณร่างกายหลายแห่งถึงสาหัส หูหนวก เสียฆานประสาท และทุพพลภาพ ป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต และผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณใบหน้าเป็นอันตรายแก่กายเหตุเกิดที่ตำบลดอนทราย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 297

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณาจ่าสิบเอกพิทักษ์ ช่างดวงจิตต์ ผู้เสียหายที่ 1ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(1)(7), 83 ให้จำคุกคนละ 6 ปี

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสอง ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น เห็นว่า เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างได้ แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้เก้าอี้และใช้ของแข็งตีทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 ถูกบริเวณร่างกายทำให้ได้รับบาดเจ็บอย่างไรบ้าง เช่นนี้ เพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ไม่จำต้องบรรยายฟ้องโดยละเอียดดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมส่วนข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้พิพากษายกฟ้องคดีที่นายถนอม ต่วนแสง เป็นจำเลยซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดร่วมกับจำเลยทั้งสองในคดีนี้ทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นเหตุลักษณะคดี ขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ด้วยนั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาในคดีนี้จะพิพากษายกฟ้องจำเลยคนหนึ่งซึ่งอุทธรณ์หรือฎีกาเพียงผู้เดียว ใช้อำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยอื่นที่ไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกามิให้ต้องถูกรับโทษเช่นเดียวกับจำเลยผู้อุทธรณ์หรือฎีกา แต่การที่ผู้ร่วมกระทำผิดถูกแยกฟ้องเป็นหลายคดีเช่นนี้ การที่พยานหลักฐานโจทก์เพียงพอจะรับฟังลงโทษจำเลยคนใดที่ร่วมกระทำผิดได้หรือไม่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยแต่ละคนเป็นการเฉพาะตัวเป็นราย ๆ ไปเฉพาะคดีนั้น ๆ ซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์อาจพาดพิงถึงจำเลยแต่ละคดีมากน้อยต่างกันได้ คดีที่พยานโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอก็ลงโทษไป คดีที่พยานโจทก์มีน้ำหนักเบาบางก็ต้องยกฟ้องตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากทางนำสืบเป็นรายคดี ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share