คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3002/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เงินและ/หรือทรัพย์สินอื่นจำนวน 12,000,000 บาทของผู้คัดค้านซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านจึงหมดสิทธิที่จะยึดถือครอบครองเงินและ/หรือทรัพย์สินดังกล่าวไว้เป็นของตนอีกต่อไป ต้องส่งมอบให้แก่แผ่นดิน เมื่อผู้คัดค้านยังไม่ส่งมอบให้แก่แผ่นดินก็จำเป็นต้องมีการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาโดยเป็นหน้าที่ของผู้ร้องจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ เมื่อตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการฯ มิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่าจะบังคับอย่างไรจึงต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 และ มาตรา 272 วรรคหนึ่ง
ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลชั้นต้นเพียงแต่จดรายงานกระบวนพิจารณาว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านฟังแล้ว แต่ยังมิได้ออกคำบังคับกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขให้ผู้คัดค้านนำเงินดังกล่าวมาส่งมอบให้แก่แผ่นดิน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้ออกคำบังคับและกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคำบังคับเพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 272 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการพ.ศ. 2518 ขอให้เรียกผู้คัดค้านเข้ามาเป็นคู่ความ และขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านจำนวน 16,826,077 บาทตกเป็นของแผ่นดิน ให้ผู้คัดค้านโอนเงินฝากตามบัญชีธนาคารตั๋วสัญญาใช้เงินและหุ้นส่วนที่ตกเป็นของแผ่นดินแก่กระทรวงการคลังกับส่งมอบสมุดเงินฝากตั๋วสัญญาใช้เงิน และใบหุ้นแก่กระทรวงการคลังด้วย หากทรัพย์สินดังกล่าวมีจำนวนไม่ครบ 16,826,077 บาท ให้ผู้คัดค้านโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รถยนต์ และทรัพย์สินอื่นแก่กระทรวงการคลังจนกว่าจะครบ หากผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และหากไม่สามารถโอนได้ด้วยเหตุใด ให้ผู้คัดค้านใช้เงินแก่กระทรวงการคลังตามส่วนของมูลค่าทรัพย์สินที่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินเอกสารท้ายคำร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เงินและ/หรือทรัพย์สินอื่นจำนวน 12,000,000 บาท ของผู้คัดค้านซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ผู้ร้องและผู้คัดค้านฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2541

ผู้ร้องยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 ขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับเพื่อให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำพิพากษา

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำพิพากษามิได้มีกรณีที่จะต้องมีการบังคับคดีจึงไม่จำต้องออกคำบังคับ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับกำหนดระยะเวลา และเงื่อนไขให้ผู้คัดค้านนำเงินและ/หรือทรัพย์สินจำนวน12,000,000 บาท มาส่งมอบให้แก่แผ่นดิน

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ศาลต้องออกคำบังคับเพื่อให้ผู้ร้องดำเนินการบังคับคดีต่อไปหรือไม่ ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้วินิจฉัยแต่เพียงว่า ทรัพย์สินบางอย่างเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านได้มาโดยมิชอบ ต้องตกเป็นของแผ่นดินเท่านั้น มิได้พิพากษาว่าให้ทรัพย์สินตามคำขอท้ายคำร้องรายการใดตกเป็นของแผ่นดิน และมิได้พิพากษาด้วยว่า หากผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และหากการโอนการจดทะเบียนโอนและการส่งมอบกระทำไม่ได้ด้วยเหตุใด ให้ผู้คัดค้านใช้เงินแก่กระทรวงการคลังตามส่วนของมูลค่าทรัพย์สินที่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สิน อันจะก่อให้เกิดสิทธิที่จะบังคับคดีได้ จึงไม่จำต้องออกคำบังคับนั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้เงินและ/หรือทรัพย์สินอื่นจำนวน 12,000,000 บาท ของผู้คัดค้านซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านจึงหมดสิทธิที่จะยึดถือครอบครองเงินและ/หรือทรัพย์สินดังกล่าวไว้เป็นของตนเองอีกต่อไป ต้องส่งมอบให้แก่แผ่นดิน เมื่อผู้คัดค้านยังไม่ส่งมอบให้แก่แผ่นดิน ก็จำเป็นต้องมีการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาโดยเป็นหน้าที่ของผู้ร้องจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ เมื่อตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 มิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่าจะบังคับอย่างไร จึงต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ถ้าศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างใดซึ่งจะต้องมีการบังคับคดีก็ให้ศาลมีคำบังคับกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคำบังคับนั้นไว้ คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านฟังเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2541 ปรากฏว่าศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านไม่สามารถแสดงให้ศาลเห็นได้ว่าเงินปันผลจากห้างหุ้นส่วนจำกัดสามย่านรามาจำนวน 7,000,000บาท และเงินจากการโอนสิทธิเรียกร้องหนี้เงินกู้ยืมจากบริษัทโรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 5,000,000 บาท เป็นเงินที่ผู้คัดค้านได้มาโดยชอบ จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เงินจำนวน 12,000,000 บาท ของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดิน ในวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลชั้นต้นเพียงแต่จดรายงานกระบวนพิจารณาว่า ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านฟังแล้ว แต่ยังมิได้ออกคำบังคับกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขให้ผู้คัดค้านนำเงินจำนวน 12,000,000 บาท ดังกล่าวมาส่งมอบให้แก่แผ่นดิน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้ออกคำบังคับ และกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคำบังคับ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวข้างต้นซึ่งรายละเอียดว่าทรัพย์สินรายการใดจะต้องตกเป็นของแผ่นดินมีปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาชัดเจนอยู่แล้ว มิใช่ว่าไม่ชัดเจนดังที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง จึงเป็นกรณีที่ออกคำบังคับได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับนั้นชอบแล้วฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share