คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายในเดือนภาษีตุลาคม2536 คลาดเคลื่อนไปจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปตาม ประมวลรัษฎากรมาตรา 89(4) และการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว มิใช่เป็นการมิได้ทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนดหรือรายงานอื่นตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1 หรือมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ อันจะทำให้ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีซึ่งคำนวณจากฐานภาษีที่มิได้ทำรายงานหรือมิได้ลงรายการในรายงานให้ถูกต้องตามมาตรา 89(10) ดังที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ทำการประเมิน ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับเพียงหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปตามมาตรา 89(4) เท่านั้น
ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) และมาตรา 246 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในส่วนนี้จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในหนี้ค่าภาษีจำนวน72,917,536.06 บาท แก่โจทก์ พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5ต่อเดือนหรือเศษของเดือนในค่าภาษีจำนวน 381,952.29 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ไม่เกิน 9,548.81 บาท

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินภาษีอากรจำนวน 72,828,413.86 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน381,952.29 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่เงินเพิ่มที่คำนวณใหม่ต้องไม่เกิน 9,548.81 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากรมาตรา 89(10) เพียงอนุมาตราเดียวเป็นการชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในเดือนตุลาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้ขายสินค้ากระดาษในราคาต่ำกว่าราคาต้นทุนสินค้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นเหตุให้ยอดขายสินค้าที่จำเลยที่ 1 แสดงไว้ต่ำไปเป็นเงิน 1,273,174.29บาท คิดเป็นภาษีขายจำนวน 89,122.20 บาท เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมเป็นเงิน 89,122.20 บาท เบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) และ (10) จำนวน267,366.60 บาท และเงินเพิ่ม 89,122.20 บาท รวม 445,611 บาทตามรายละเอียดการคำนวณเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 43 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้อง อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายในเดือนภาษีตุลาคม 2536คลาดเคลื่อนไป จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(4)และการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมิใช่เป็นการมิได้ทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนดหรือรายงานอื่นตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1 หรือมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ อันจะทำให้ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีซึ่งคำนวณจากฐานภาษีที่มิได้ทำรายงานหรือมิได้ลงรายการในรายงานให้ถูกต้องตามมาตรา 89(10) ดังที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ทำการประเมินดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับเพียงหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปตามมาตรา 89(4)เท่านั้น ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) และมาตรา 246 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในส่วนนี้จึงไม่ชอบที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(10) นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินภาษีอากรจำนวน 72,739,291.66 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน381,952.29 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เงินเพิ่มที่คำนวณใหม่ต้องไม่เกิน 9,548.81 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share