แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แซงรถโดยสารประจำทางที่จำเลยขับห่าง 1 เมตรเศษ แล้วรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับได้เสียหลักล้มลงรถยนต์โดยสารประจำทางที่จำเลยขับจึงได้แล่นทับผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนี้ การที่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับแซงแล้วเสียหลักล้มลงอย่างกะทันหันหน้ารถยนต์โดยสารประจำทางที่จำเลยขับห่าง 1 เมตรเศษ เป็นระยะกระชั้นชิดจนเหลือวิสัยที่จำเลยจะหยุดรถได้ทัน กรณีเป็นเหตุสุดวิสัยที่บุคคลในภาวะเช่นจำเลยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงมิใช่เกิดจากความประมาทของจำเลย
หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยหลบหนีไปโดยไม่ได้แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง จำเลยจะอ้างว่าไม่มีเจตนาไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทันทีเพราะไปแจ้งให้เจ้าของรถทราบเหตุหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และ 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157 และ 160 วรรคหนึ่ง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4),78 วรรคหนึ่ง, 157 และ 160 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กับความผิดฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก4 ปี ความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีจำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 จำคุก 2 ปี เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 แล้ว รวมเป็นจำคุก 2 ปี 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยหรือไม่โจทก์มีประจักษ์พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุมาเบิกความเป็นพยาน นายเจียกเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าขณะเกิดเหตุนายเจียกนั่งอยู่บนรถยนต์โดยสารประจำทางคันเกิดเหตุโดยนั่งเบาะหลังสุดด้านซ้ายชิดขอบหน้าต่าง เมื่อมาถึงบริเวณสถานีขนส่งสายใต้ใหม่เห็นผู้ตายขับรถจักรยานยนต์อยู่ที่บริเวณทางโค้งเพื่อจะข้ามสะพานแล้วเสียหลักล้มลง ล้อหลังของรถยนต์โดยสารประจำทางได้ทับศีรษะของผู้ตาย และได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่ารถจักรยานยนต์ของผู้ตายขับมาในลักษณะแซงรถยนต์โดยสารประจำทางทางด้านซ้ายและในชั้นสอบสวนนายเจียกให้การว่าขณะที่รถยนต์โดยสารประจำทางกำลังจะขึ้นสะพานต่างระดับหน้าสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ มีรถจักรยานยนต์แล่นอยู่ข้างหน้า 1 เมตรเศษในช่องเดินรถช่องซ้าย รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเสียหลักล้มลงข้างทาง รถยนต์โดยสารประจำทางไม่สามารถหยุดได้ทัน ได้แล่นพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ทันที แล้วรถยนต์โดยสารประจำทางไปจอดอยู่บนสะพานห่างจากที่รถจักรยานยนต์ล้มประมาณ 50 เมตร นายเจียกลงจากรถยนต์โดยสารประจำทางแล้วช่วยจัดการจราจรโดยโบกให้รถแล่นผ่านได้สะดวกจนเจ้าพนักงานตำรวจมาที่เกิดเหตุและนำรถทั้งสองคันไปสถานีตำรวจ ประกอบกับร้อยตำรวจเอกสุวรรณ สวัสดี เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจสภาพรถเบิกความว่า ผลการตรวจรถยนต์โดยสารประจำทางปรากฏว่าตัวถังข้างซ้ายบริเวณหน้าล้อหน้าตอนล่างมีรอยกระแทกขูดเป็นแนวยาวอยู่ในระดับสูงจากพื้นประมาณ 40 ถึง 50 เซนติเมตรซึ่งเกินจากจุดกึ่งกลางของล้อแต่ไม่เกินจุดสูงสุดของล้อ รอยดังกล่าวเป็นรอยใหม่ สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากอุบัติเหตุในคดีนี้ซึ่งเป็นการกระทบของรถจักรยานยนต์เป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความและคำให้การในชั้นสอบสวนของนายเจียกดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แซงรถยนต์โดยสารประจำทางที่จำเลยขับห่าง 1 เมตรเศษ แล้วรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับได้เสียหลักล้มลง รถยนต์โดยสารประจำทางที่จำเลยขับจึงได้แล่นทับผู้ตายถึงแก่ความตายและรถจักรยานยนต์เสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่า การที่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับแซงรถยนต์โดยสารแล้วรถจักรยานยนต์เสียหลักล้มลงอย่างกะทันหันหน้ารถยนต์โดยสารประจำทางที่จำเลยขับห่าง 1 เมตรเศษ เป็นระยะกระชั้นชิดจนเหลือวิสัยที่จำเลยจะหยุดรถได้ทัน กรณีเป็นเหตุสุดวิสัยที่บุคคลในภาวะเช่นจำเลยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้การที่รถยนต์โดยสารประจำทางที่จำเลยขับแล่นทับผู้ตายจึงมิใช่เกิดจากความประมาทของจำเลย จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4)ประกอบมาตรา 157 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า จำเลยมีความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดและให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีหรือไม่ โจทก์นำสืบว่าหลังเกิดเหตุแล้วจำเลยหลบหนีไป จนกระทั่งวันที่ 27 ตุลาคม 2540จึงเข้ามอบตัว ความข้อนี้จำเลยเบิกความยอมรับว่า หลังเกิดเหตุจำเลยลงจากรถมาดูผู้ตาย ได้ยินเสียงผู้โดยสารบอกว่า “ไปซิ จะอยู่ทำไม” และมีรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 123 อีกคันหนึ่งแล่นผ่านมา คนขับรถคันดังกล่าวได้บอกให้จำเลยไปแจ้งให้เจ้าของรถทราบ จำเลยจึงขึ้นรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวไปแจ้งให้เจ้าของรถทราบเป็นการเจือสมทางนำสืบของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าหลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยหลบหนีไปโดยไม่ได้แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง จำเลยจะอ้างว่าจำเลยไม่มีเจตนาไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีเพราะไปแจ้งให้เจ้าของรถทราบเหตุดังที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยข้อหานี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยอีกว่าสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่ความผิดของจำเลย แต่จำเลยได้หลบหนีไปทันทีแสดงให้เห็นถึงการไม่มีมนุษยธรรมของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษและไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) ประกอบมาตรา 157 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์