คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พยานโจทก์ชั้นสืบสวนและจับกุมเบิกความถึงการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่ได้ทำการสืบสวนและจับกุมจำเลยทั้งสี่ซึ่งมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเฮโรอีนอย่างละเอียดทุกขั้นตอนทั้งสอดคล้องต้องกันไม่มีพิรุธใดๆเมื่อถูกจับกุมแล้วจำเลยทั้งสี่ต่างก็ให้การรับสารภาพและเขียนบันทึกคำรับสารภาพซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวด้วยลายมือของตนเองให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมด้วยอีกทั้งพนักงานสอบสวนซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมก็เบิกความยืนยันว่าเมื่อแจ้งข้อหาให้จำเลยทั้งสี่ทราบได้แจ้งด้วยว่าจำเลยทั้งสี่จะให้การหรือไม่ให้การหรือจะให้การอย่างไรก็ได้แต่จำเลยทั้งสี่ก็ได้ให้การรับสารภาพตนจึงพิมพ์คำให้การของจำเลยทั้งสี่ตามคำบอกเล่าของจำเลยทั้งสี่และในชั้นพิจารณาของศาลจำเลยที่3ก็ให้การรับสารภาพทั้งจำเลยที่1ที่2และที่4ยังนำสืบข้อเท็จจริงรับว่าจำเลยทั้งสี่ได้มีการพบปะติดต่อกันจริงในวันเกิดเหตุเจือสมกับข้อนำสืบของโจทก์เชื่อว่าจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2535เวลากลางคืน หลังเที่ยง จำเลยทั้งสี่กับนายสายันต์ เกตุชราซึ่งเป็นเยาวชนและได้แยกไปดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดลำพูน ได้ร่วมกันมีเฮโรอีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท1 น้ำหนัก 4,223 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 3,420 กรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลศรีภูมิและตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เกี่ยวพันกันเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสี่และนายสายันต์ได้พร้อมด้วยเฮโรอีนที่จำเลยทั้งสี่กับพวกมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ-8105 อุบลราชธานี รถยนต์หมายเลขทะเบียนน-5808 สิงห์บุรี และเครื่องวิทยุติดตามตัวโฟนลิ้งค์ หมายเลขเครื่อง 364703 อันเป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันใช้ในการกระทำความผิดโดยใช้เป็นยานพาหนะและเครื่องมือสื่อสารในการติดต่อซื้อขายและขนส่งเฮโรอีนที่จำเลยทั้งสี่กับพวกมีไว้เพื่อจำหน่าย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3,30, 31 2 มาตรา 83 ริบเฮโรอีนของกลางและริบรถยนต์กับเครื่องวิทยุติดตามตัวโฟนลิ้งค์ของกลางเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง,102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 3ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 (2) คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 30 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน นับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1) คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ตลอดชีวิต ริบเฮโรอีนของกลาง และให้ริบรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุหมายเลขทะเบียน บ-8105 อุบลราชธานีและรถยนต์กระบะยี่ห้อมาสด้าหมายเลขทะเบียน น-5808 สิงห์บุรีกับวิทยุติดตามตัวโฟนลิ้งค์หมายเลขเครื่อง 364703 ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 30, 31
จำเลย ที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าเมื่อวันที่6 พฤศจิกายน 2535 มีสายลับมาแจ้งข่าวแก่พันตำรวจโทอวยพร จินตกานนท์ ที่สำนักงานปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ว่า มีกลุ่มพ่อค้ายาเสพติดจะลักลอบขนเฮโรอีนจากจังหวัดเชียงใหม่ไปส่งลูกค้าแถบจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก โดยสายลับแจ้งด้วยว่ากลุ่มพ่อค้าดังกล่าวเป็นคนตำบลวังใหม่ อำเภอวังน้ำเย็นจังหวัดปราจีนบุรี มีนายสมนึก ลีศรี จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้ามีลูกน้องคือ นายวรรณพ ต๊ะนวล จำเลยที่ 2 นายปรีชา สัญญาจำเลยที่ 3 นายธงชัย ประศรีพัฒน์ จำเลยที่ 4 และนายสายันต์เกตุชรา บุคคลเหล่านั้นพักอยู่ที่ห้องพักเลขที่ 305 รัชยาแมนชั่นอำเภอเมืองเชียงใหม่ และใช้รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-8105อุบลราชธานี เป็นยานพาหนะ โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนในพื้นที่และพักอยู่ที่ห้องพักเลขที่ 7 หอพักเรือนคำ ถนนทุ่งเวสาลีอำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นคนจัดหาเฮโรอีนมาให้ ขณะที่แจ้งจำเลยที่ 1 ได้ไปที่จังหวัดชลบุรีเพื่อรับเงินค่าเฮโรอีนดังกล่าวมาจ่ายให้จำเลยที่ 2 พันตำรวจโทอวยพร จึงให้พันตำรวจตรีดุษฎี อารยวุฒิ ไปดำเนินการสืบสวนและติดตามคนกลุ่มนี้ไว้ ซึ่งพันตำรวจตรีดุษฎีได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาพร้อมถ่ายรูปไว้ ต่อมาวันที่ 12พฤศจิกายน 2535 สายลับคนเดิมมาพบพันตำรวจโทอวยพรและพันตำรวจตรีดุษฎีแจ้งว่าจำเลยที่ 1 กลับมาจากจังหวัดชลบุรีแล้วและพักอยู่ที่บ้านเลขที่ 268/11 ถนนทุ่งโฮเต็ล ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านภรรยาน้อย จำเลยที่ 2จะมาพบจำเลยที่ 1 ในวันดังกล่าวเพื่อตกลงกันเรื่องการส่งมอบเฮโรอีน เมื่อตกลงกันได้เรียบร้อยแล้วจำเลยที่ 1 จะแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบทางวิทยุติดตามตัวโฟนลิ้งค์ หมายเลขเครื่อง364703 เพื่อให้จำเลยที่ 3 มารับจำเลยที่ 1 ไปจัดการเกี่ยวกับเงินค่าเฮโรอีน และในคืนวันดังกล่าวจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์จะไปรับเฮโรอีนที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะรออยู่ที่ร้านอาหารในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่เพื่อรอฟังข่าวจากจำเลยที่ 3 ซึ่งจะแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบทางวิทยุติดตามตัวหมายเลขดังกล่าวว่าได้รับเฮโรอีนไว้เรียบร้อยหรือไม่ สำหรับการขนเฮโรอีนนั้น จำเลยที่ 3จะเป็นผู้ขนเอาไปโดยใช้รถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียนบ-8105 อุบลราชธานี เป็นยานพาหนะไปกรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ 1มิได้ร่วมเดินทางไปด้วยแต่จะเดินทางไปกับรถไฟหรือเครื่องบินและจะไปรับเฮโรอีนที่สถานบริการน้ำมัน ป.ต.ท. แถวย่านรังสิตในเช้าวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 พันตำรวจโทอวยพรจึงมีคำสั่งให้พันตำรวจตรีดุษฎีกับพวกสืบสวนและติดตามพ่อค้าเฮโรอีนรายนี้ต่อไป พันตำรวจตรีดุษฎีจึงจัดชุดปฎิบัติการเป็น 3 ชุด แยกย้ายกันติดตามกลุ่มคนร้ายดังกล่าวพันตำรวจตรีดุษฎีเป็นหัวหน้าชุดที่ 1 เฝ้าสังเกตการณ์ที่บ้านเลขที่ 268/11 ถนนทุ่งโฮเต็ลชุดที่ 2 มีจ่าสิบตำรวจอินทร จันต๊ะพิงค์ เป็นหัวหน้าเฝ้าดูที่รัชยาแมนชั่นและชุดที่ 3 มีสิบตำรวจเอกสัมพันธ์ จั่นทองเพียงคนเดียวเฝ้าดูที่บริเวณหอพักเรือนคำและมีเจ้าพนักงานตำรวจอีก 1 คน เป็นพนักงานวิทยุทำหน้าที่ติดต่อระหว่างชุดปฎิบัติการทั้ง 3 ชุด เวลาประมาณ 10 นาฬิกา พันตำรวจตรีดุษฎีเห็นจำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ออกจากบ้านเลขที่ 268/11 ใช้รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น-5808 สิงห์บุรี เป็นยานพาหนะ พันตำรวจตรีดุษฎีกับพวกติดตามไปและถ่ายภาพไว้เป็นระยะ ๆ เวลาประมาณ 12 นาฬิกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปที่รัชยาแมนชั่นแล้วไปที่หอพักเรือนคำจำเลยที่ 1 เข้าไปในห้องพักเลขที่ 7 และเดินเข้าออกระหว่างระเบียงกับห้องพักหลายครั้ง จนเวลา 13.30 นาฬิกา จำเลยที่ 3ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-8105 อุบลราชธานี มาที่หอพักเรือนคำ จำเลยที่ 1 ออกมาพบจำเลยที่ 3 และนั่งรถไปกับจำเลยที่ 3 ระหว่างทางจำเลยที่ 1 และที่ 3 แวะเข้าไปในธนาคารกสิกรไทย สาขาช้างเผือก พันตำรวจตรีดุษฎีตามเข้าไปยืนใกล้ ๆจำเลยที่ 1 เห็นจำเลยที่ 1 เขียนข้อความในใบถอนเงินโดยระบุชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถอนจำนวน 40,000 บาท พันตำรวจตรีดุษฎีจึงออกจากธนาคารไปรอที่รถ จำเลยที่ 1 และที่ 3 กลับไปที่บ้านเลขที่268/11 และรับนางรัตนาภรณ์ไปทานอาหารและพากลับมาส่งบ้านแล้วจึงไปที่สถานีรถไฟและบริษัทการบินไทย จำกัด พันตำรวจตรีดุษฎีเข้าไปสอบถามเจ้าพนักงานขายตั๋วจึงทราบว่าจำเลยที่ 1ซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินสำหรับตัวเองเพื่อเดินทางไปกรุงเทพมหานครในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 เวลา 7.45 นาฬิกา พันตำรวจตรีดุษฎีติดตามจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไปที่รัชยาแมนชั่นและเฝ้าดูอยู่จนเวลาประมาณ 17.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์ มาที่รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-8105 อุบลราชธานีและช่วยกันตรวจเช็คสภาพรถประมาณ 15 นาที จากนั้นจำเลยที่ 3และที่ 4 กับนายสายันต์ขับรถจักรยานยนต์ไปที่ร้านขายเครื่องไฟฟ้าโดยจำเลยที่ 4 นำลำโพงติดรถยนต์สีดำไปด้วย เมื่อคนทั้งสามออกจากร้านดังกล่าวพันตำรวจตรีดุษฎีให้เจ้าพนักงานตำรวจอื่นเข้าไปสอบถามคนขายได้ความว่าคนทั้งสามมาซื้อเทปพันสายไฟและนอตติดลำโพง ส่วนพันตำรวจตรีดุษฎีติดตามคนทั้งสามไปที่รัชยาแมนชั่นและทราบจากจ่าสิบตำรวจอินทรว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในห้องพักเลขที่ 305 แล้ว เวลาประมาณ 19 นาฬิกา พันตำรวจตรีดุษฎีเห็นจำเลยที่ 1 ออกจากห้องพักพร้อมหญิงสาวคนหนึ่งและขับรถจักรยานยนต์ไปจึงให้จ่าสิบตำรวจอินทรติดตามไป หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์ออกมาขึ้นรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-8105 อุบลราชธานี โดยจำเลยที่ 3เป็นผู้ขับไปตามถนนสายเชียงใหม่-พร้าวมุ่งหน้าไปอำเภอพร้าวพันตำรวจตรีดุษฎีกับพวกติดตามไปและจอดรถรออยู่ที่บริเวณสามแยกไปอำเภอแม่ริมและคอยอยู่จนจำเลยที่ 3 กับพวกย้อนกลับมาจึงขับรถตามไป จำเลยที่ 3 จอดรถที่หน้าตลาดแม่โจ้ และลงจากรถพร้อมจำเลยที่ 4 และนายสายันต์ ไปที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะ จำเลยที่ 3เข้าไปโทรศัพท์แล้วจึงเดินทางต่อโดยมุ่งหน้าเข้าอำเภอเมืองเชียงใหม่ แต่ขับไปได้ประมาณ 100 เมตร จำเลยที่ 3 ก็จอดรถไปโทรศัพท์อีกเมื่อเข้าเขตตัวเมืองเชียงใหม่เป็นเวลา19.30 นาฬิกา จำเลยที่ 3 แวะที่ปั๊มน้ำมันและใช้โทรศัพท์ที่ปั๊มดังกล่าว จากนั้นได้ขับรถมุ่งหน้าไปทางจังหวัดลำปาง พันตำรวจตรีดุษฎีจึงใช้โทรศัพท์มือถือสอบถามไปที่บริษัทโฟนลิ้งค์เพื่อขอทราบข้อความที่ฝากไว้สำหรับวิทยุติดตามตัวหมายเลข 364703ซึ่งได้ความว่าข้อความสุดท้ายคือ “อะไหล่รถได้แล้ว” พันตำรวจตรีดุษฎีแน่ใจว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์ได้รับเฮโรอีนเรียบร้อยแล้ว จึงวิทยุแจ้งให้พันตำรวจโทอวยพรทราบว่าจำเลยที่ 3และที่ 4 กับนายสายันต์ได้ขับรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุหมายเลขทะเบียน บ-8105 อุบลราชธานี ออกจากอำเภอสันทรายมุ่งหน้าไปกรุงเทพมหานครแล้วขอให้พันตำรวจโทอวยพรเดินทางไปที่ตู้ยามของตำรวจทางหลวงจังหวัดลำพูนเพื่อสกัดจับเวลาประมาณ20 นาฬิกา จำเลยที่ 3 ขับรถมาถึงตู้ยามดังกล่าว พันตำรวจโทอวยพรกับพวกจึงเรียกให้หยุด ขณะนั้นพันตำรวจตรีดุษฎีกับพวกก็ตามมาถึงและร่วมกับพันตำรวจโทอวยพรตรวจค้นภายในรถยนต์และพบเฮโรอีนชนิดผงอัดเป็นแท่งซุกซ่อนอยู่ในลำโพงข้างรถจำนวน 12 แท่งจึงจับจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์พร้อมแจ้งข้อหาว่ามีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์ให้การรับสารภาพและแจ้งให้ทราบว่าเฮโรอีนดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์เป็นเพียงผู้รับจ้างขนเท่านั้น พันตำรวจโทอวยพรสั่งให้พันตำรวจตรีดุษฎีคุมตัวจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์ไปที่สำนักงานปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่และให้นำเฉพาะจำเลยที่ 3 ไปตรวจค้นห้องพักเลขที่ 305 รัชยาแมนชั่นและวิทยุสั่งการให้จ่าสิบตำรวจอินทร ซึ่งสะกดรอยติดตามจำเลยที่ 1จับจำเลยที่ 1 ไว้ ได้พร้อมยึดวิทยุติดตามตัวโฟนลิ้งค์หมายเลข364703 ไว้เป็นของกลางแล้วนำจำเลยที่ 1 ไปที่สำนักงานปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นพันตำรวจโทอวยพรได้เดินทางไปสมทบกับสิบตำรวจเอกสัมพันธ์ซึ่งเฝ้าดูจำเลยที่ 2 อยู่ที่ห้องอาหารกังสดาล ภายในโรงแรมอโนดาดและร่วมกับสิบตำรวจเอกสัมพันธ์จับจำเลยที่ 2 พร้อมยึดรถยนต์กระบะยี่ห้อมาสด้าหมายเลขทะเบียน น-5808 สิงห์บุรี ซึ่งจำเลยที่ 2 ใช้เป็นยานพาหนะไว้เป็นของกลาง แล้วนำตัวจำเลยที่ 2 ไปตรวจค้นที่ห้องพักเลขที่ 7 หอพักเรือนคำ พบนามบัตรโรงแรมอินทนินด้านหลังมีข้อความเขียนไว้ว่า พี่อู๊ดโอนเงินในธนาคารมาให้80,000 บาท บัตรสมาชิกของห้างตันตราภัณฑ์ 2 ฉบับ มีชื่อนายสายันต์และจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของ สัญญาเช่าห้องพักรัชยาแมนชั่นที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่า เมื่อพันตำรวจโทอวยพรควบคุมจำเลยที่ 2 ไปถึงสำนักงานปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ได้ค้นตัวจำเลยที่ 1 ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่สำนักงานดังกล่าวพบตั๋วเครื่องบินซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้โดยสารวางอยู่หลังตู้เย็นและจากการค้นตัวจำเลยที่ 1 พบหลักฐานการโอนเงินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาพัทยา โอนมาที่สาขาช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ผู้โอนคือจำเลยที่ 1 ผู้รับโอนคือจำเลยที่ 2 จำนวนเงิน 150,000 บาท ส่วนพันตำรวจตรีดุษฎีนำจำเลยที่ 3 ไปค้นที่ห้องพักเลขที่ 305 รัชยาแมนชั่น ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสี่และนายสายันต์ให้การรับสารภาพและจำเลยทั้งสี่แต่ละคนได้ทำบันทึกการรับสารภาพไว้ด้วย ส่วนเฮโรอีนของกลางพนักงานสอบสวนได้ส่งไปตรวจพิสูจน์ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดผลการตรวจพิสูจน์ปรากฎว่าเป็นเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ซึ่งเป็นเกลือของเฮโรอีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 3,420 กรัม
จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพทำไร่อ้อยและเลี้ยงโคอยู่ที่อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีนบุรี ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่มีกิจการไร่อ้อยและรับจ้างไถไร่อ้อยให้แก่ผู้อื่นด้วย โดยใช้รถแทรกเตอร์ที่เช่าซื้อมาจากบริษัทไทยเย็นอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในราคา 470,000 บาท ซึ่งชำระเงินไปบางส่วนในวันทำสัญญา ที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวด ๆโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลกิจการและรวบรวมเงินที่ได้จากการรับจ้างไถไร่อ้อยนำไปชำระค่าเช่าซื้อ และบางครั้งจำเลยที่ 1 ต้องโอนเงินไปให้จำเลยที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อนำไปชำระค่าเช่าซื้อ ปกติจำเลยที่ 1 จะไปที่จังหวัดเชียงใหม่ เดือนละ2 ครั้ง เพราะจำเลยที่ 1 มีภรรยาน้อยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่2 คน คือ นางสาวปิยะนาถซึ่งจำเลยที่ 1 เช่าห้องพักที่รัชยาแมนชั่น เลขที่ 304 ให้อยู่ และนางรัตนาภรณ์อยู่ที่บ้านเลขที่ 268/11 ถนนทุ่งโฮเต็ล อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 1 และนางรัตนาภรณ์ไปจังหวัดเชียงใหม่และพักอยู่ที่บ้านของนางรัตนาภรณ์วันที่ 12 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 3 มาหาจำเลยที่ 1 ที่บ้านของนางรัตนาภรณ์บอกว่ามาเที่ยวงานลอยกระทงกับจำเลยที่ 4 และนายสายันต์ จำเลยที่ 1 ชวนจำเลยที่ 3 ไปรับมารดานางรัตนาภรณ์ที่โรงพยาบาลแมคคอมิค ระหว่างทางจำเลยที่ 3 แวะเบิกเงินที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาช้างเผือก เมื่อกลับถึงบ้านพบจำเลยที่ 2รออยู่จึงได้ชวนกันไปรับประทานอาหารข้างนอก ต่อมาเวลาประมาณ15 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 3 ขับรถไปส่งจำเลยที่ 1ที่สถานีรถไฟเพื่อจะซื้อตั๋วรถไฟ แต่ตั๋วหมดจึงไปที่บริษัทการบินไทย จำกัด สาขาเชียงใหม่ และซื้อตั๋วเครื่องบินไปกรุงเทพมหานครในเที่ยวบินเวลา 7.45 นาฬิกา ของวันที่ 13พฤศจิกายน 2535 เพื่อไปซื้ออะไหล่รถแทรกเตอร์ที่จังหวัดสระบุรีจากนั้นจำเลยที่ 3 ขับรถไปส่งจำเลยที่ 1 ที่รัชยาแมนชั่น เวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยที่ 1 และนางสาวปิยะนาถไปรับประทานอาหารที่ห้องอาหารกินรีเพลส โดยโทรศัพท์เรียกจำเลยที่ 2 มาร่วมรับประทานด้วย จนเวลา 19 นาฬิกา จำเลยที่ 2 กับเพื่อนหญิงที่มาด้วยกันได้กลับไป ต่อมาเวลาประมาณ 20 นาฬิกา มีชายประมาณ5 ถึง 6 คน ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจหน่วยปราบปรามยาเสพติดเข้ามาในร้านอาหารดังกล่าว แล้วชายคนหนึ่งเอาปืนจี้ที่สีข้างจำเลยที่ 1 ชายอีกคนหนึ่งชกต่อยจำเลยที่ 1 ที่ท้องและใบหน้า แล้วเอาถุงผ้ามาคลุมศีรษะจำเลยที่ 1 พาขึ้นรถยนต์ไปที่สำนักงานปราบปรามยาเสพติด เมื่อไปถึงเจ้าพนักงานตำรวจบอกให้จำเลยที่ 1 เขียนบันทึกเหตุการณ์ในวันดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยที่ 1เขียนให้แล้วเจ้าพนักงานตำรวจได้ฉีกทิ้งไปแล้วบอกให้เขียนใหม่ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์ค้าเฮโรอีน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอม เจ้าพนักงานตำรวจจึงทำร้ายจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องยอมเขียนบันทึกตามที่เจ้าพนักงานตำรวจบอกหลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจส่งจำเลยที่ 1 พร้อมกับจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์ไปที่สถานีตำรวจภูธร ตำบลแม่ปิงและนำตัวเข้ากรุงเทพมหานครในวันรุ่งขึ้น ต่อมาอีก 2 วัน พนักงานสอบสวนให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในคำให้การที่พิมพ์ข้อความไว้เรียบร้อยแล้วระหว่างถูกคุมขังจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อผู้บังคับการกองปราบปรามเรื่องที่ถูกบังคับให้รับสารภาพตามเอกสารหมาย ล.6 สำหรับวิทยุติดตามตัวโฟนลิ้งค์ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดเป็นของกลางนั้นเป็นของนางรัตนาภรณ์ให้จำเลยที่ 1 ไว้ใช้ ซึ่งข้อความที่ว่า อะไหล่รถได้แล้วนั้นจำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งมาให้จำเลยที่ 1 ส่วนเงิน 150,000 บาทที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เพื่อให้จำเลยที่ 2นำไปจ่ายค่าเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ที่เช่าซื้อมา
จำเลยที่ 2 นำสืบว่า เมื่อปี 2533 จำเลยที่ 2 ได้ชักชวนจำเลยที่ 1 นำรถแทรกเตอร์มารับจ้างไถไร่อ้อยที่จังหวัดเชียงใหม่โดยจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ดูแลให้จำเลยที่ 1 ตกลงและได้ค่าเช่าที่ดินอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำไร่อ้อยด้วยวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 4 มาหาจำเลยที่ 2 ที่หอพักเรือนคำ บอกว่ามาเที่ยวงานลอยกระทงโดยมากับจำเลยที่ 3 และนายสายันต์ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2535 เวลา 22.30 นาฬิกาจำเลยที่ 1 โทรศัพท์มาบอกให้จำเลยที่ 2 ไปพบที่บ้านเลขที่268/11 ถนนทุ่งโฮเต็ล และชวนกันไปหาจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์ที่โรงแรมอินทนิน ในเช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อจำเลยที่ 1ได้พบกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์แล้ว จำเลยที่ 1 ชวนจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์มาร่วมทำการเกษตรที่จังหวัดเชียงใหม่ และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์ย้ายไปพักที่รัชยาแมนชั่น ต่อมาเวลา 12.30 นาฬิกา ของวันที่ 12 พฤศจิกายน2535 จำเลยที่ 3 ขับรถมารับจำเลยที่ 1 ออกไปจากหอพักเรือนคำส่วนจำเลยที่ 2 ยังอยู่ที่หอพักเรือนคำจนถึงเวลา 17 นาฬิกาจึงออกไปรับนางสาวจามจุรีและกลับถึงหอพักเวลา 19.30 นาฬิกานางสาวปิยะนาถโทรศัพท์มาชวนจำเลยที่ 2 ไปรับประทานอาหารที่ห้องอาหารกินรีเพลส จำเลยที่ 2 อยู่ที่ห้องอาหารกินรีเพลสประมาณ 15 นาที ก็ชวนนางสาวจามจุรีไปรับประทานอาหารต่อที่ร้านอาหารกังสดาลในโรงแรมอโนดาด ต่อมามีเจ้าพนักงานตำรวจประมาณ 7 คน มาจับจำเลยที่ 2 แล้วพาไปที่หอพักเรือนคำเพื่อทำการตรวจค้นแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด ๆ สำหรับบันทึกคำรับสารภาพที่แนบท้ายบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.9 นั้นจำเลยที่ 2 เขียนขึ้นเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจบังคับ ส่วนเงินที่จำเลยที่ 1 โอนมาให้จำนวน 150,000 บาท นั้นเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปชำระค่าเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ที่ค้างอยู่ จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีโทรศัพท์มือถือและวิทยุติดตามตัวโฟนลิ้งค์ใช้ และในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ติดต่อกันทางวิทยุติดตามตัวโฟนลิ้งค์แต่อย่างใด
จำเลยที่ 4 นำสืบว่า จำเลยที่ 4 รู้จักกับจำเลยที่ 1 มานานแล้วและรู้จักกับจำเลยที่ 2 เมื่อประมาณกลางปี 2532 เมื่อวันที่5 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 3 และนายสายันต์เดินทางไปเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่และเข้าพักที่โรงแรมอินทนินจำเลยที่ 4 ตามหาจำเลยที่ 1 และทราบว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 4 ไปหาจำเลยที่ 2ที่หอพักเรือนคำ จำเลยที่ 2 ชวนจำเลยที่ 4 ไปที่รัชยาแมนชั่นเพื่อดูว่าจำเลยที่ 1 อยู่หรือไม่ แต่ไม่พบผู้ใด ต่อมาวันที่ 12พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 1 และที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 4 ไปที่รัชยาแมนชั่นเพื่อจะปรึกษาเรื่องทำไร่อ้อย เมื่อจำเลยที่ 4 ไปที่รัชยาแมนชั่นได้พบกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 บอกให้จำเลยที่ 4รออยู่ที่รัชยาแมนชั่น ส่วนจำเลยที่ 3 ขับรถออกไปและในวันดังกล่าวจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์เดินทางกลับจากจังหวัดปราจีนบุรี โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับรถยนต์ เมื่อมาถึงจุดตรวจมีเจ้าพนักงานตำรวจเรียกให้หยุดและทำการตรวจค้นภายในรถยนต์ที่จำเลยที่ 3 ขับ พบเฮโรอีนซ่อนอยู่ในรถจึงตั้งข้อหาจำเลยที่ 4ว่าร่วมกับจำเลยที่ 3 และนายสายันต์มีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งระหว่างนั้นจำเลยที่ 3 บอกให้จำเลยที่ 4 เฉยไว้แล้วจะเล่าให้ฟัง ขณะจับกุมไม่มีใครพูดว่าเฮโรอีนดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพเนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายและถูกบังคับให้เขียนบันทึกคำรับสารภาพด้วย
พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 3 มีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในวันเกิดเหตุในความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 3 มีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยจำเลยที่ 4 ถูกจับพร้อมจำเลยที่ 3และเฮโรอีนของกลางที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า ไม่ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 3 ตามฟ้องนั้น โจทก์มีพันตำรวจโทอวยพร จินตกานนท์ พันตำรวจตรีดุษฎี อารยวุฒิ จ่าสิบตำรวจอินทร จันต๊ะพิงค์ และสิบตำรวจเอกสัมพันธ์ จั่นทอง มาเบิกความโดยพันตำรวจโทอวยพรและพันตำรวจตรีดุษฎีเบิกความว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 มีสายลับแจ้งให้พยานทราบว่า มีกลุ่มพ่อค้ายาเสพติดจะขนเฮโรอีนจากจังหวัดเชียงใหม่ไปส่งให้ลูกค้าแถบจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และได้ระบุชื่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวว่าเป็นคนจังหวัดปราจีนบุรี มีนายสมนึกหรืออู๊ด ลีศรีจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้า มีนายปรีชา สัญญา จำเลยที่ 3 นายสายันต์ เกตุชราและนายธงชัยหรือนกเขา ประศรีพัฒน์ จำเลยที่ 4ร่วมดำเนินการด้วย โดยใช้รถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุหมายเลขทะเบียนบ-8105 อุบลราชธานี เป็นยานพาหนะ มีนายวรรณพ ต๊ะนวล จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นคนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้จัดหาเฮโรอีนให้กลุ่มบุคคลดังกล่าว จำเลยที่ 2 ใช้รถยนต์กระบะยี่ห้อมาสด้าสีฟ้าหมายเลขทะเบียน น-5808 สิงห์บุรี และจะทำการขนเฮโรอีนกันหลังวันที่ 10 พฤศจิกายน 2535 พันตำรวจโทอวยพรจึงมอบหมายให้พันตำรวจตรีดุษฎีไปดำเนินการสืบสวนเพื่อจับกุม และได้ความจากพันตำรวจตรีดุษฎี จ่าสิบตำรวจอินทรและสิบตำรวจเอกสัมพันธ์ว่า หลังจากที่ได้รับคำสั่งจากพันตำรวจโทอวยพรแล้วพันตำรวจตรีดุษฎีกับพวกซึ่งมีจ่าสิบตำรวจอินทรและสิบตำรวจเอกสัมพันธ์รวมอยู่ด้วยก็ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของจำเลยทั้งสี่และนายสายันต์ที่มีการพบปะติดต่อกันตลอดเวลามาโดยได้มีการถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานตามภาพถ่าย หมาย จ.1 จ.10 ถึง จ.15โดยเฉพาะในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2535 ซึ่งพันตำรวจโทอวยพรและพันตำรวจตรีดุษฎีได้รับแจ้งจากสายลับว่า พวกจำเลยจะขนเฮโรอีนกันในวันนั้น พันตำรวจตรีดุษฎีจึงจัดการแบ่งกำลังตำรวจออกเป็น3 ชุด คอยติดตามพวกจำเลยตั้งแต่ตอนเช้าตลอดทั้งวัน จนกระทั่งจับกุมจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์ได้พร้อมเฮโรอีนของกลางในท้องที่จังหวัดลำพูน ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับนายสายันต์ให้การว่าเฮโรอีนดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 จึงมีการจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเห็นได้ว่าการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจชุดนี้ได้กระทำอย่างละเอียดทุกขั้นตอน คำเบิกความก็สอดคล้องต้องกันไม่มีพิรุธใด ๆ เมื่อจำเลยทั้งสี่ถูกจับกุมแล้วต่างก็ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 1 และ 2 จำเลยทั้งสี่ยังเขียนบันทึกคำรับสารภาพด้วยลายมือของตนเองให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมด้วย ตามเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 4 ถึงแผ่นที่ 9 บันทึกคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสี่ก็สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าว พันตำรวจตรีจักรา ปิ่นปัก พนักงานสอบสวนซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมจำเลยทั้งสี่ก็เบิกความยืนยันว่าเมื่อแจ้งข้อหาให้จำเลยทั้งสี่ทราบได้แจ้งด้วยว่าจำเลยทั้งสี่จะให้การหรือไม่ให้การหรือจะให้การอย่างไรก็ได้ แต่จำเลยทั้งสี่ก็ได้ให้การรับสารภาพ พันตำรวจตรีจักราจึงพิมพ์คำให้การของจำเลยทั้งสี่ตามคำบอกเล่าของจำเลยทั้งสี่ตามที่ปรากฎในคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสี่เอกสารหมาย จ.32 ถึง จ.35 การที่จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเมื่อถูกจับและทำบันทึกการรับสารภาพให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับ ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสี่ก็ให้การรับสารภาพ และในชั้นพิจารณาของศาลจำเลยที่ 3 ก็ให้การรับสารภาพทั้งจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยังนำสืบข้อเท็จจริงรับว่าจำเลยทั้งสี่ได้มีการพบปะติดต่อกันจริงในวันเกิดเหตุเจือสมกับข้อนำสืบของโจทก์เช่นนี้ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ ที่จำเลยที่ 1และที่ 2 อ้างว่าให้การรับสารภาพเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ เมื่อนำคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ดังกล่าวมาพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของพยานโจทก์โดยเฉพาะจำเลยที่ 4 ซึ่งถูกจับพร้อมกับจำเลยที่ 3 และเฮโรอีนของกลาง ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้จะไม่มีเฮโรอีนอยู่ในครอบครองขณะถูกจับกุม ก็เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 3 ตามฟ้องจริง ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share