แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเข้าทำสัญญาในฐานะรับมอบอำนาจจากผู้อื่น จึงไม่ใช่ คู่สัญญาเป็นส่วนตัวการกระทำที่ว่าจำเลยยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของลูกหนี้หลอกว่าจะชำระหนี้แทนลูกหนี้ ก็เป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนที่จะฟ้องล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9(3) ได้
ย่อยาว
จำเลยที่ 2, 3 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 รับเหมาก่อสร้างอาคารจาก ว. ซึ่งโจทก์เช่าที่ดินอยู่ จำเลยทั้งสามกับโจทก์ได้ยอมความกันให้โจทก์เช่าอาคารที่จะสร้างขึ้นใหม่ได้ จำเลยผิดสัญญา ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสาม ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระบัญชีเลิกบริษัทจำเลยที่ 2, 3 เป็นผู้ชำระบัญชี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 1 เด็ดขาด ยกฟ้องจำเลยที่ 2, 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8585/2514 จำนวนเงินรวม 380,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7857/2515 จำนวนเงินรวม366,000 บาท จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทจำกัดตั้งผู้ชำระบัญชีหลังแพ้คดีหมายเลขแดงที่ 8585/2514 และมีหนี้สินล้นพ้นตัว โจทก์ที่ 3 เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญาต่างตอบแทน หมาย จ.1 แต่ถอนฟ้องไปแล้ว โจทก์ทั้งสามจึงร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ส่วนในข้อที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2, 3 ต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัวด้วยโจทก์อ้างและนำสืบว่า เพราะจำเลยที่ 3 ได้ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ในฐานะเป็นคู่สัญญาเป็นส่วนตัวด้วย และจำเลยที่ 2, 3ได้ร่วมกันยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของจำเลยที่1 เจตนาไม่ให้โจทก์ทั้งสามได้รับชำระหนี้ และเพื่อให้โจทก์งดการบังคับคดีไว้ก่อน จำเลยที่ 2, 3 ได้ใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ด้วยวาจาว่าจะร่วมกันชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1ด้วยการผ่อนชำระเป็นรายเดือน ได้นัดจะไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาล แล้วไม่ยอมชำระหนี้แทน และไม่ยอมไปศาลทำสัญญาประนีประนอมตามกำหนดนัด
ได้พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หมาย ล.3ที่ทำกันไว้กับโจทก์ที่ 3 และมีข้อความตรงกันกับที่ทำไว้กับโจทก์ที่ 1, 2ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8585/2514และ 7857/2515 ข้อความที่ว่า “สัญญาระหว่างบริษัทกรุงธนสถาปัตย์จำกัด โดยนายแสง วงศ์ไพบูลย์ และนายประสิทธิ์ จึงสง่า กรรมการผู้มีอำนาจ และนายประสิทธิ์ จึงสง่า ในฐานะส่วนตัว ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ซึ่งต่อไปสัญญานี้จะเรียกว่าฝ่ายที่ 1″ นั้น แสดงฐานะของนายประสิทธิ์ จึงสง่า จำเลยที่ 3 ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า ได้เข้าผูกพันเป็นคู่สัญญากับโจทก์ ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ตามหนังสือมอบอำนาจหมาย ล.1 หาใช่เข้าร่วมเป็นคู่สัญญาเป็นส่วนตัวของจำเลยที่ 3ดังโจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่ และทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ต่างก็ถูกยกเลิกโดยปริยายไปเพราะคู่สัญญาได้ตกลงทำสัญญาต่างตอบแทนซึ่งเป็นมูลฟ้องในคดีของโจทก์ทั้งสามนี้แล้ว ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนในข้อที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2, 3 กระทำการต่าง ๆ ตามฟ้องอันจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าเป็นมูลหนี้อีกส่วนหนึ่งต่างหากจากหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดและเป็นมูลฟ้องคดีนี้ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 2, 3 หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จริง ก็ยังเป็นหนี้ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9(3) อันจะนำมาเป็นมูลฟ้องให้จำเลยที่ 2, 3 ล้มละลายได้”
พิพากษายืน