คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6679/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองผู้รับซื้อสินค้าทำสัญญากับโจทก์ผู้ให้เช่าเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัท ส. ผู้เช่า และตกลงว่า ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาเช่า ผู้รับซื้อสินค้าตกลงผูกพันตนร่วมกันกับผู้เช่า เพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้เช่าโดยซื้อทรัพย์สินจากผู้ให้เช่าในราคาตามที่ระบุไว้ รวมด้วยจำนวนหนี้ที่ค้างชำระและบรรดาหนี้เงินที่ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่า โดยให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนไปยังผู้รับซื้อสินค้า เมื่อผู้รับซื้อสินค้าได้ชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าเสร็จสิ้นแล้ว ผู้รับซื้อสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบทุกอย่างแต่เพียงฝ่ายเดียวในการดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานี้ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการรับโอน การเก็บรักษาทรัพย์สิน การยึดทรัพย์สินจากความครอบครองของผู้เช่า และการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินมาอยู่ในความครอบครองของผู้ให้เช่า ผู้รับซื้อสินค้า หรือของบุคคลอื่นตามที่ผู้ให้เช่ากำหนด แล้วแต่กรณีตลอดจนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้รับซื้อสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียวในบรรดาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานี้ ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ผู้รับซื้อสินค้ามีหน้าที่ต้องชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่า และผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่ผู้รับซื้อสินค้าเมื่อผู้รับซื้อสินค้าได้ชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้นเมื่อโจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระราคารถขุดตีนตะขาบที่เช่าตามสัญญารับซื้อสินค้าพร้อมค่าปรับ หากจำเลยทั้งสองชำระราคารถให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์และเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในการยึดรถจากความครอบครองของบริษัท ส. หรือการเคลื่อนย้ายรถมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง และการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญารับซื้อสินค้า สัญญารับซื้อสินค้าไม่ได้กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสอง แต่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองผู้รับซื้อสินค้าเอง ซึ่งมีผลบังคับได้ เมื่อโจทก์เลือกใช้สิทธิดังกล่าวแล้วโดยมิได้เลือกใช้สิทธิที่จะนำรถไปขายให้แก่บุคคลอื่น จำเลยทั้งสองก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญา โดยชำระราคาและติดตามรถเอง โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ถูกต้อง เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 8,368,507.91 บาท พร้อมค่าปรับอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 8,013,183.59 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,184,313.52 บาท พร้อมค่าปรับอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,006,648.83 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,006,648.83 บาท พร้อมค่าปรับอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 8,013,183.59 บาท พร้อมค่าปรับอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้โจทก์ส่งมอบรถขุดตีนตะขาบที่จำเลยทั้งสองรับซื้อคืนแก่จำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 บริษัทสยาม แอนทราไซด์ ไมนิ่ง จำกัด ทำสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งกับโจทก์ โดยเช่ารถขุดตีนตะขาบยี่ห้อฮิตาชิพร้อมอุปกรณ์จำนวน 3 คัน ในราคา 21,448,598.13 บาท กำหนดเวลาเช่า 48 เดือน เดือนละ 436,745 บาท และจำเลยทั้งสองตกลงว่า กรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะรับซื้อรถขุดตีนตะขาบดังกล่าวจำนวน 1 คัน และ 2 คัน ตามลำดับ จากโจทก์ ต่อมาบริษัทสยาม แอนทราไซด์ ไมนิ่ง จำกัด ผิดนัดชำระค่าเช่าและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว และให้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืน โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระค่าซื้อทรัพย์คืนและค่าปรับแก่โจทก์แล้ว คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลยทั้งสองชำระราคาพร้อมค่าปรับแก่โจทก์
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบรถขุดตีนตะขาบแก่จำเลยทั้งสองเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาสัญญารับซื้อสินค้าระบุว่า จำเลยทั้งสองผู้รับซื้อสินค้าทำสัญญากับโจทก์ผู้ให้เช่าเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัทสยาม แอนทราไซด์ ไมนิ่ง จำกัด ผู้เช่า และตกลงว่า 1. ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาเช่า … ผู้รับซื้อสินค้าตกลงผูกพันตนร่วมกันกับผู้เช่า เพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้เช่าโดยซื้อทรัพย์สินจากผู้ให้เช่าในราคาตามที่ระบุไว้ในตารางแนบท้าย รวมด้วยจำนวนหนี้ที่ค้างชำระและบรรดาหนี้เงินที่ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่า … 2. ให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนไปยังผู้รับซื้อสินค้า เมื่อผู้รับซื้อสินค้าได้ชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าตามที่ระบุในข้อ 1. เสร็จสิ้นแล้ว และ 5. ผู้รับซื้อสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบทุกอย่างแต่เพียงฝ่ายเดียวในการดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานี้ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการรับโอน การเก็บรักษาทรัพย์สิน การยึดทรัพย์สินจากความครอบครองของผู้เช่า และการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินมาอยู่ในความครอบครองของผู้ให้เช่า ผู้รับซื้อสินค้า หรือของบุคคลอื่นตามที่ผู้ให้เช่ากำหนด แล้วแต่กรณีตลอดจนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้รับซื้อสินค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว ในบรรดาค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานี้ … ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ผู้รับซื้อสินค้ามีหน้าที่ต้องชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่า และผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่ผู้รับซื้อสินค้าเมื่อผู้รับซื้อสินค้าได้ชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าตามที่ระบุในข้อ 1. เสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้นเมื่อโจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระราคารถขุดตีนตะขาบที่เช่าตามสัญญารับซื้อสินค้า ข้อ 1. พร้อมค่าปรับ หากจำเลยทั้งสองชำระราคารถให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์และเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในการยึดรถจากความครอบครองของบริษัทสยาม แอนทราไซด์ ไมนิ่ง จำกัด หรือการเคลื่อนย้ายรถมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง และการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญารับซื้อสินค้า ข้อ 2. และ ข้อ 5. สัญญารับซื้อสินค้าไม่ได้กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสอง แต่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองผู้รับซื้อสินค้าเอง ซึ่งมีผลบังคับได้ เมื่อโจทก์เลือกใช้สิทธิดังกล่าวแล้วโดยมิได้เลือกใช้สิทธิที่จะนำรถไปขายให้แก่บุคคลอื่น จำเลยทั้งสองก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญา โดยชำระราคาและติดตามเอารถเอง โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสอง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบรถแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ถูกต้อง เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์ส่งมอบรถขุดตีนตะขาบที่จำเลยทั้งสองรับซื้อคืนแก่จำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share